ทุนสำรองเดือนก.ย.วูบ 1.4 หมื่นล้านดอลาร์ พิษบาทอ่อน-ธปท.เข้าดูแล

ทุนสำรองเดือนก.ย.วูบ 1.4 หมื่นล้านดอลาร์ พิษบาทอ่อน-ธปท.เข้าดูแล

“ทุนสำรอง” ไทยเดือนเดียววูบถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะ ต้นปีถึงปัจจุบันดิ่งลงเกือบ 20% นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมาจากทั้งการเข้าดูแลค่าเงินและการตีมูลค่าสินทรัพย์ในรูปสกุลอื่นเป็นดอลลาร์ แต่มั่นใจเสถียรภาพไทยยังแกร่ง ปริมาณเงินยังสูงเพียงพอรับมือความเสี่ยงต่างๆ ได้

       ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศล่าสุด ซึ่งเป็นข้อมูล ณ สิ้นเดือนก.ย.2565 พบว่าอยู่ที่ระดับ 199,444 ล้านดอลลาร์ นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

     โดยเฉพาะเดือนก.ย.เพียงเดือนเดียว ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยลดลงมาถึง 14,017 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.5% จากระดับ 213,461 ล้านดอลลาร์ และหากเทียบกับสิ้นปี 2564 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยลดลงถึง 46,552 ล้านดอลลาร์ จากระดับ 245,996 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลง 18.9% 

      นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ทุนสำรองของธปท.ที่ลดลง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าหายไปเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 2 ส่วน คือ การตีมูลค่าสินทรัพย์ในรูปสกุลอื่นเป็นเงินดอลลาร์และการเข้าไปดูแลค่าเงิน 

       ถ้าดูเชิงลึกไปถึงข้อมูลทุนสำรองที่หายไป ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นส.ค.พบว่าทุนสำรองที่หายไป 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนนี้ลดลงจากการใช้ทุนสำรองเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนอีกครั้งก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่า มาจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ในทุนสำรอง โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ที่ธปท.ถือไว้ในทุนสำรองมีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ทุนสำรองลดไม่กระทบเสถียรภาพ

     อย่างไรก็ตามทุนสำรองที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่า ธปท.ขาดทุนจากการเข้าไปแทรกแซงอัตราลกเปลี่ยนจนน่าเป็นห่วง เพราะแม้ทุนสำรองธปท.จะลดลง ซึ่งมาจากทั้งการเข้าไปดูแลเงินบาท หรือ Valuation แต่ทุนสำรองของไทยวันนี้มีสูงมาก หากเทียบกับหลายประเทศ

      นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การดูว่าทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพียงพอหรือไม่ มักดูจาก 3หลักใหญ่ คือ ด้านแรก ดูจากความเพียงพอในการจ่ายหนี้ รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าซึ่งวันนี้มีเพียงพอไปถึง 9เดือน แต่ประเทศที่มีปัญหามีทุนสำรองเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น และด้านดุลบัญชีเดินสะพัดแม้ไทยจะขาดดุล แต่ยังอยู่เพียง 3% ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าทุนสำรองที่ไทยมีค่อนข้างมาก

      ตัวที่สอง คือหนี้ต่างประเทศ วันนี้ทุนสำรองของไทย สูงกว่าหนี้ระยะสั้นกว่า 3 เท่า หรือต่อให้มีการเรียกหนี้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวคืนทั้งหมดจากต่างประเทศ ทุนสำรองก็เพียงพอจ่ายหนี้ได้ สุดท้ายคือ ปริมาณเงินในประเทศ หากมีการขนเงินออกนอกประเทศ ทุนสำรองไทยก็มีเพียงพอ กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้

ไม่สนับสนุนธปท.แทรกแซงเงินบาท

     อย่างไรก็ตาม ในมุมของเกียรตินาคินภัทร ไม่ได้สนับสนุน ในการเข้าไปแทรกแซงเงินบาท และมองว่าควรเปลี่ยนไปดูแลพื้นฐานของประเทศแทน เพราะเชื่อว่าการล็อคค่าเงินบาท เป็นสิ่งที่ทำไม่ใด้ ดังนั้นต้องไปแก้ที่ปัจจัยพื้นฐาน เช่นการลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ผ่านการสนับสนุนการขายของให้มากขึ้น หนุนให้นักท่องเที่ยวกับมารวดเร็ว

      ถัดมาคือ ดอกเบี้ย ที่จะเป็นตัวสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาท ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เงินบาทอ่อนค่า ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่การจะดำเนินนโยบายเหล่านี้ ก็ไม่ได้สิ่งที่ได้มาฟรีๆ ต้องเลือก ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินบาท หรือหากไม่ต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าก็ต้องแลกด้วยทุนสำรองที่อาจลดลงต่อเนื่อง
     ดังนั้นไม่ว่าเลือกทางไหนก็ต้องแลกกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และต้องเลือกตัวที่มีต้นทุนกับเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด

ขึ้นดอกเบี้ยลดเกิดเงินเฟ้อ-ลดใช้ทุนสำรอง

      ทั้งนี้ มองว่าปัจจุบัน ดอกเบี้ยของไทย ต่ำเกินไปสำหรับการจัดการเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันอยู่สูงถึง 6-7% ห่างกับเป้าหมายที่ธปท.อยากให้ลงไปสู่ระดับ 2% ดังนั้นดอกเบี้ยต้องขยับมากกว่านี้

      อย่างไรก็ตาม การขยับดอกเบี้ยขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เงินบาทจะแข็งค่า เพราะวันนี้ไทยเผชิญส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหากเทียบกับสหรัฐค่อนข้างมาก

       “หากเราขึ้นดอกเบี้ยเท่าสหรัฐเศรษฐกิจไทยอาจพังได้ ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยง หากเชื่อว่า ความเสี่ยงเงินเฟ้อมี วันนี้ดอกเบี้ยต้องขยับสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ ลดความเสี่ยงค่าเงินได้ รีเซฟไม่ต้องใช้เยอะ และไปดูแลส่งออก ให้มีรายได้กลับมา ดุลบัญชีเดินสะพัดจะได้กลับมาเร็วๆ แต่เหล่านี้ต้องใช้นโยบายหลายด้าน ธปท.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ดอกเบี้ยอย่างเดียวช่วยไม่ได้ ดังนั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากในการดำเนินนโยบายการเงิน”

ดูแลเงินบาทผ่านทุนสำรองได้คุ้มเสียหรือไม่

     นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็ม กล่าวว่า ทุนสำรองที่ลดลด ส่วนหนึ่ง มาจากการ ตีมูลค่า หากเทียบกับดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้การตีมูลค่าทุนสำรองลดลง

      แต่โจทย์หนึ่งที่หนีไม่พ้น คือ การที่ธปท.เข้าไปประคองเงินบาทไม่ให้อ่อนค่า โดยการใช้ทุนสำรองดูแลเงินบาท ทำให้ทุนสำรองลดลงต่อเนื่อง แต่หลายประเทศก็เผชิญแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ทุนสำรองลดลง แต่ไม่ได้ลดลงแรงเหมือนประเทศไทย ดังนั้นต้องดูว่า เกิดอะไรขึ้นกับ จากการบริหารจัดการทุนสำรอง

     ทั้งนี้ จากทุนสำรองที่ลดลงกว่า 10% ในช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ในมุมความเป็นห่วง ถือว่าน้อยลง เพราะเชื่อว่า ทุนสำรองยังสามารถดูแลเสถียรภาพประเทศได้ แต่ไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะทิศทางดอลลาร์จะแข็งค่าต่อเนื่อง และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนจะยังมีต่อเนื่อง 

     ดังนั้นต้องจับตาดูว่า การบริหารทุนสำรองจะเป็นอย่างไร เพื่อประคองไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าต่อไป ซึ่งอาจหมายถึง ทุนสำรองที่อาจลดลงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การบริหารแบบนี้จะคุ้มค่า คุ้มเสียได้มากน้อยแค่ไหน มากกว่าการใช้เครื่องมืออื่นๆ

     “การดูแลเงินไหลเข้าไหลออก ดูแลเงินบาท เราหวังว่า คงไม่ใช้เครื่องมือที่แรงขึ้น หรือการใช้แคปิตอลคอนโทรล เหมือนอดีตที่ผ่านมา ยกเว้นมีการโจมตีค่าเงิน หรือเกิดพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงิน เหมือนที่ญี่ปุนเจอ หวังว่าคงไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในไทย”

ไม่ห่วงทุนสำรองลด

     นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทุนสำรองที่ลดลง วันนี้ถือว่าไม่น่าห่วง เพราะมีสูงกว่าหนี้ประเทศระยะสั้นกว่า 3 เท่า ดังนั้นไม่ห่วงในด้านเสถียรภาพ ที่เกิดจากทุนสำรอง

      ทั้งนี้ ทุนสำรองที่ลดลง ก็ยังถือว่าไม่มาก หากเทียบกับทุนสำรองทางการทั้งหมด ยังเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนที่น้อย ซึ่งสามารถตอบสนองฟันด์โฟลว์ เงินทุนไหลไหลเข้าไหลออกได้

      ส่วน ทุนสำรองที่ลดลงจะทำให้เกิดวิกฤติลามเหมือนปี 2540 หรือไม่ ขอตอบว่าไม่ เพราะปัจจุบันประเทศไม่ได้มีปัญหาในภาคการเงิน เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัว แม้เราจะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว ที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเสถียรภาพพื้นฐาน เสถียรภาพการเงิน เสถียรภาพการคลัง ยังดี แม้เงินทุนไหลออก ทุนสำรองลดลง สะท้อนความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่