วิกฤติการเงินโลก 2023: จุดเริ่มต้นของจุดจบ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
สำหรับผู้ติดตามบทความ Global Vision เป็นประจำ คงทราบว่าผู้เขียนมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ ผู้เขียนเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤติการเงินในปีหน้า
หลังจากวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป เศรษฐกิจโลกก็จะเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งในแง่ของการเติบโต เงินเฟ้อ และนโยบายเศรษฐกิจ ดังนั้น บทความนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยจะขอไล่เลียงไปถึงโอกาสและเหตุการณ์สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
แม้ว่าในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวค่อนข้างดี ไม่ว่าจะวัดจากยอดค้าปลีก การลงทุน การผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือจะเป็นตัวเลขตลาดแรงงานก็ตาม ซึ่งทั้งหมดเพิ่งเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ผู้เขียนมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไป น่าจะเห็นการชะลอลงของการบริโภคสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคสินค้าที่เคยพุ่งขึ้นสูงจากการ “อั้น” การบริโภค (Pent-up Demand) กำลังกลับเข้ามาสู่จุดสมดุล
ขณะที่การบริโภคบริการไม่น่าจะเพิ่มเติมจากแนวโน้มก่อน Covid-19 ได้มากนัก และยิ่งเมื่อรายได้กำลังจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เราจะเห็นการบริโภคบริการลดลงอย่างรวดเร็วในระยะถัดไป
ในฟากของนโยบายการเงิน เป็นไปได้ที่การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในการคาดการณ์ (Dot plot) ในเดือน ก.ย. นี้ เป็นการส่งสัญญาณที่รุนแรงครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากนี้ แรงกดดันจะเริ่มมีมากขึ้นจากภาคการเงินโลกที่มีความปั่นป่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอลงเร็วขึ้นในระยะถัดไป
โดยในปัจจุบัน หลังจาก Fed มีนโยบายที่เข้มงวดขึ้น ความผันผวนตลาดการเงินโลกก็เพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์การเงินลดลง มูลค่าตลาด (Market Cap) ของหุ้นซึ่งวัดโดยดัชนี Wilshire 5000 all-cap หายไปแล้ว 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี ตลาดพันธบัตรขาดทุน 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 21%
ขณะที่มูลค่าตลาดของ crypto หายไป 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา ราคาบ้านกำลังชะลอลง ด้านอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแตะ 7% เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปีที่แล้ว
ปัจจุบัน ตลาดการเงินกำลังประสบปัญหาสองประการ กล่าวคือ (1) การขาดสภาพคล่อง (Illiquidity) หรือ (2) การล้มละลาย (Insolvency) โดยปัญหาสภาพคล่องจะเกิดขึ้นก่อน
เห็นได้จากกองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษ ที่เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นจะต้องเผชิญกับการเรียกหลักประกัน (Margin call) ทำให้ต้องขายพันธบัตรมาจ่าย Margin call ดังกล่าว ทำให้ดอกเบี้ยปรับขึ้นแรงมาก จนทำให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเข้ามาทำ QE อีกครั้ง
แต่กองทุนบำเหน็จบำนาญไม่ใช่ผู้ถือพันธบัตรเพียงรายเดียวที่อาจประสบปัญหาสภาพคล่อง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนเกี่ยวกับกองทุนตราสารหนี้ปลายเปิด (open-ended bonds funds) ซึ่งมีสินทรัพย์อยู่ที่ 41 ล้านล้านดอลลาร์
โดย ณ ปัจจุบัน กองทุนเหล่านี้กำลังเผชิญกับเงินทุนกำลังไหลออกกว่า 8% ในปีนี้ ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ตลาดพันธบัตรเริ่มขาดสภาพคล่อง คล้ายกับในช่วงเดือน มี.ค. 2020 อีกครั้ง โดยไม่มีผู้ซื้อพันธบัตรแม้ผลตอบแทนจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า ความปั่นป่วนของตลาดการเงินจะนำมาสู่การล้มละลายหรือ Insolvency หรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าทรัพย์สินต่ำกว่าหนี้สิน และเคยเกิดขึ้นกับ บริษัทประกัน AIG และวานิชธนกิจ Lehman Brothers ในปี 2008
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าทางการได้ทำการ Stress test สถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ โดยทางการมีมาตรวัด 3 ประการ คือ
(1) บริษัทมีเงินทุนไม่เพียงพอ และได้กู้ยืมเงินมากเกินไปหรือไม่
(2) มีรูปแบบธุรกิจที่น่าสงสัย (เช่น มีธุรกรรมจำนวนมากในตลาดที่อยู่อาศัยในอเมริกา) หรือ
(3) ดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
ปัจจุบันมีธนาคาร 30 แห่งที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดให้มีความสำคัญอย่างเป็นระบบ (Global systemically important bank (G-Sib)) โดยส่วนใหญ่มีเงินกองทุนมูลค่า 13% ของสินทรัพย์เสี่ยง และมีหนี้มูลค่าห้าเท่าของทุน (เทียบกับ Lehman brothers ที่มีเงินกองทุน 3% และมีหนี้ 30 เท่าก่อนวิกฤต)
โดยเฉลี่ยแล้ว ธนาคารต่างๆ มีสัดส่วนกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) ที่ 4-9% ของส่วนของผู้ถือหุ้น (ยกเว้น Credit Suisse ที่ขาดทุนถึง -14% ของเงินกองทุน) อย่างไรก็ตาม ยากที่จะทราบว่าในแต่ละธนาคาร มีการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างมากหรือไม่
ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อไปคือ อสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการเงิน แต่การเติบโตของของราคาในที่อยู่อาศัยในช่วงหลังท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้นแสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อบางรายกำลังจะประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนได้
ทั้งนี้ ผู้กู้ภาคอสังหาฯ บางรายเลือกใช้หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าแล้ว (เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ภาคอสังหาฯ ขึ้นจาก 3% เป็น 7% แล้ว)
อีกหนึ่งภาคการเงินที่ต้องจับตาคือ สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured consumer finance) และบัตรเครดิต รวมถึงเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว และดอกเบี้ยจะถูกปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น หนี้อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และเงินกู้รถยนต์
ธุรกิจต่อไปที่จะมีความเสี่ยงได้แก่ ธุรกิจประเภทให้บริการซอฟต์แวร์ เนื่องจากมีรายได้ในรูปแบบการสมัครสมาชิก (Subscription fee-based income) และธุรกิจเหล่านี้ก็ใช้กระแสเงินสุดจากค่าสมาชิกรายเดือนมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อ บ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้ได้รับสินเชื่อสูงมาก (Highly leveraged) และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้หากลูกค้ายกเลิกบริการ
โดยภาพรวมแล้ว ความเสี่ยงล้มละลายของธุรกิจต่าง ๆ มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากหนี้โดยภาพรวมของภาคธุรกิจมีสัดส่วน 80% ของ GDP เทียบกับ 65% ในปี 2007 หนึ่งในสามของหนี้องค์กรในอเมริกาได้รับการจัดอันดับ BBB ซึ่งเป็นระดับการลงทุนที่ต่ำที่สุด (และหากถูกปรับลดระดับลง ก็จะขาดสภาพคล่องทันที)
ผู้เขียนมองว่า นับจากนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า จะเห็นปัญหาวิกฤติการเงินในสินทรัพย์/ ธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งหากธนาคารกลางเข้ามาสนับสนุน ก็จะรอดได้ชั่วคราว แต่ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย/ ดึงสภาพคล่องออกมาขึ้น ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็จะชะลอลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในสหรัฐ ยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ และจะเป็นต้นกำเนิดของวิกฤตการเงินในปี 2023
วิกฤตการเงินปี 2023 กำลังก่อเค้าแล้ว และผลของมันจะทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปเช่นไร โปรดหาคำตอบในบทความฉบับถัดไป.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
คอลัมน์ : Global Vision
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด