แนวโน้มของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่น | ภาณุพันธุ์/ภูมิภัทร

แนวโน้มของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่น | ภาณุพันธุ์/ภูมิภัทร

ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ปี ค.ศ. 2008 ผู้ถือหุ้นสถาบันต่างก็เริ่มใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากความเป็นเจ้าของหุ้นที่ตนถือ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตัดสินใจของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า shareholder activism

ผู้ถือหุ้นแบบนักเคลื่อนไหว (activist) โดยส่วนใหญ่จะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัท เช่น การปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลของบริษัท การตัดสินใจด้านการเงิน และทิศทางการบริหาร

ทั้งนี้ รูปแบบของ shareholder activism นั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ การพูดคุยกับบริษัทเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ แบบไม่เปิดเผย ไปจนถึงการเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้บริษัทเข้าทำธุรกรรมสำคัญบางอย่าง

    shareholder activism นั้นถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก โดยส่วนมากเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และตอนนี้ก็ได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ แล้ว รวมถึงญี่ปุ่น ในครั้งนี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอเกี่ยวกับแนวโน้มของผู้ถือหุ้น activist ในญี่ปุ่น

ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund) ในญี่ปุ่นและต่างประเทศ และอาจมีนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาบ้าง ซึ่งในขณะนี้ ผู้ถือหุ้น activist ก็เริ่มมีมากขึ้นในญี่ปุ่น

บริษัทที่เป็นเป้าหมายของผู้ถือหุ้น activist ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่มี PBR (price-to-book ratio) ต่ำ มีเงินสดส่วนเกินเป็นจำนวนมาก หรือ มี ROE (return on equity) ต่ำ 

จุดประสงค์ของ shareholder activism ในญี่ปุ่นส่วนมากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงิน (capital efficiency) ของบริษัท โดยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเรียกร้องให้บริษัทซื้อหุ้นคืน เพิ่มเงินปันผล ขายกิจการที่ไม่ทำกำไรหรือไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป ขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลัก

ในบางกรณี ผู้ถือหุ้น activist อาจใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อผลตอบแทนในระยะสั้นจากการลงทุน การเสนอให้บริษัททำการควบรวมกิจการหรือ M&A กับบริษัทอื่น  นอกจากนี้ การเรียกร้องให้บริษัททบทวนเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับแผนธุรกิจโดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกก็มีไม่น้อย 

ในบางกรณี หากผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์เห็นว่าบริษัทไม่ตอบรับข้อเรียกร้องอย่างเพียงพอ ก็จะพยายามทำให้บริษัทแต่งตั้งบุคคลที่ตนแนะนำเข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท

บุคคลเหล่านี้โดยมากจะเป็นผู้จัดการของกองทุนที่เป็นนักเคลื่อนไหว ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือผู้ที่เชี่ยวชาญการจัดสรรทุนหรือการปรับโครงสร้างกิจการ 

แนวโน้มของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่น | ภาณุพันธุ์/ภูมิภัทร

นอกจากนี้ การปรับปรุงธรรมาภิบาลของบริษัทก็เป็นอีกจุดประสงค์หนึ่งที่เห็นได้บ่อยใน shareholder activism ผู้ถือหุ้น activist จะพยายามเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในธรรมาภิบาลของบริษัท เช่น การนำค่าตอบแทนการบริหารแบบที่เชื่อมโยงกับราคาหุ้นมาใช้ การยกเลิกการถือหุ้นไขว้ หรือการยกเลิกมาตรการป้องกันการครอบงำกิจการ

ด้านกลยุทธ์ที่ผู้ถือหุ้น activist ใช้นั้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งจดหมายเพื่ออธิบายถึงข้อเรียกร้องต่อบริษัทและสื่อสารกับบริษัทแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้น activist เห็นว่าการสื่อสารกับบริษัทแบบไม่เปิดเผยไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้การรณรงค์แบบเปิดเผย

ทั้งนี้ เพื่อขอการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ด้วย โดยที่เครื่องมือที่ผู้ถือหุ้น activist ใช้สำหรับการรณรงค์แบบเปิดเผยนั้นมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น  ข่าวประชาสัมพันธ์ (press release) การเผยแพร่สมุดปกขาว (white paper) หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ซึ่งตนเองเตรียมไว้สำหรับการรณรงค์ การลงโฆษณาบนเว็บไซต์ การส่งจดหมายถึงผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้น activist ยังอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการใช้สิทธิภายใต้กฎหมายในฐานะผู้ถือหุ้นในการเสนอวาระการประชุมต่อบริษัทให้พิจารณาในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือการชักชวนเป็นการทั่วไปให้มอบฉันทะ (proxy solicitation) ตามกฎหมายเพื่อรวบรวมสิทธิลงคะแนนของผู้ถือหุ้นเพื่อลงคะแนนสนับสนุนวาระที่ตนเสนอหรือวาระของบริษัทที่ตนต้องการคัดค้าน

แนวโน้มของผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่น | ภาณุพันธุ์/ภูมิภัทร

ในบางกรณี ผู้ถือหุ้น activist ก็มีการใช้กระบวนการทางศาลเป็นกลยุทธ์ เช่น การขอคำสั่งศาลให้กรรมการหยุดการกระทำ หรือดำเนินคดีต่อกรรมการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำของกรรมการ


ตัวอย่างของ shareholder activism ที่เกิดกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงนี้ ได้แก่ บริษัท Sony ที่ผู้ถือหุ้น activist เสนอให้บริษัทแยกธุรกิจส่วนเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เมื่อปี 2556 และธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ เมื่อปี 2562 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท Sony ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเสนอแนะ

อีกตัวอย่างก็คือ SoftBank Group ที่ผู้ถือหุ้น activist เรียกร้องให้ซื้อหุ้นคืนเมื่อปี 2563 ซึ่งหลังจากมีข้อเรียกร้องดังกล่าว SoftBank Group ก็ประกาศแผนที่จะซื้อหุ้นคืนจนถึงมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

คงต้องเป็นที่จับตามองว่ากระแส shareholder activism จะแพร่หลายไปยังประเทศอื่น  ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยหรือไม่ และจะพัฒนาต่อไปในรูปแบบใด.
คอลัมน์ Business&Technology Law 
ดร.ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล

ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล 

ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น

[email protected]