สบน.ชี้ความท้าทายบริหารหนี้เพิ่มหลังตลาดเงินผันผวนดอกเบี้ยขาขึ้น

สบน.ชี้ความท้าทายบริหารหนี้เพิ่มหลังตลาดเงินผันผวนดอกเบี้ยขาขึ้น

สบน.ชี้ความท้าทายบริหารหนี้เพิ่มหลังตลาดการเงินผันผวนบวกอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ประสานใกล้ชิดธปท.ดูแลสภาพคล่องในตลาดให้เพียงพอต่อการระดมทุนภาครัฐและเอกชน พร้อมกระจายเครื่องมือการกู้เงินยืดอายุระดมทุนรองรับความผันผวนและผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในอนาคต

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)กล่าวในโอกาสครบรอบสบน. 20 ปี ว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี สบน.ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังและรอบคอบทั้งในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจปกติและช่วงวิกฤติ เพื่อดูแลหนี้สาธารณะของประเทศและรักษาไว้ซึ่งวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดี การกู้เงินของรัฐบาลแม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังช่วยกระจายความเจริญไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

โดยหนี้สาธารณะปัจจุบันอยู่ในระดับดี สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากลยังชื่นชมที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการทางการเงินการคลังได้ดีท่ามกลางภาวะวิกฤติ โดยได้แสดงออกถึงความเชื่อมั่นและความมีเสถียรภาพ ตลอดจนความโปร่งใสของฐานะการเงินการคลังของประเทศแม้ต้องเผชิญกับวิกฤติ

ในระยะต่อไป สบน.จะมุ่งเน้นการปฏิบัติงานบน Digital Platform โดยได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และบริหารหนี้สาธารณะทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ตลอดจนกระบวนการกู้เงิน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ตลอดจนนำไปใช้วิเคราะห์และจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งแสดงความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ในกระบวนการจัดหาเงินกู้และภาพรวมการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ดี การบริหารหนี้สาธารณะของ สบน. ในระยะต่อไปยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ อาทิ 1.สภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง สบน.ต้องประสานงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอเพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เพียงพอสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป

โดยเน้นกระจายเครื่องมือการกู้เงินพร้อมกับยืดอายุเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อรองรับความผันผวนและผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทน(Yield)ในประเทศในอนาคต พร้อมกับ ทยอยปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้ล่วงหน้า (Prepayment) ตลอดจนดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้และลดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ของรัฐบาล และผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศ

2.การของบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่ม เพื่อให้พอเพียงและสอดรับกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณสำหรับภาระดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

เธอกล่าวด้วยว่า ขอเน้นย้ำว่า การกู้เงินของรัฐบาลหรือการก่อหนี้สาธารณะยังคงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย พร้อมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ สบน. ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้ง ชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบวินัยทางการคลัง และไม่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์ใด สบน. ก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย เพื่อเป็นเสาหลักในด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศต่อไป