ธปท.ออกเกณฑ์คุมแบงก์ ลงทุน - ประกอบธุรกิจใน ‘ดิจิทัล แอสเสท’
ธปท.ออกหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์ เกี่ยวกับการเข้าไปลงทุน และทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อลดความเสี่ยงของระบบธนาคาร ป้องกัน และคุ้มครองผู้บริโภค
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ การกํากับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ที่ประกอบธุรกิจ และทําธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เพื่อให้กลุ่มธุรกิจการเงินสามารถประกอบธุรกิจ และทําธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบการกำกับดูแล ที่มีความยืดหยุ่น โดยมีการดูแลด้านธรรมาภิบาล ความเพียงพอของเงินกองทุน ความเสี่ยงจากความเชื่อมโยง ภายในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน การดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม ตลอดจนการกํากับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงอื่นที่เกี่ยวข้อง และดูแลผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวม
โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
โดย ประกาศครั้งนี้ มีสาระสำคัญ
1.ให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินยกเว้นธนาคารพาณิชย์ สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่นสนับสนุนเทคโนโลยีหรือการพัฒนาบริการทางการเงินที่จะช่วยให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และภาคธุรกิจ ไม่ปิดกั้นการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุน สินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล
2.มีการดูแล และบริหารจัดการความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับ สินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ และความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ และการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่อาจกระทบต่อเงินฝากของประชาชน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน
3. คุ้มครองลูกค้าผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม ป้องกันการชักชวนให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจไม่มีความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเพียงพอ และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงต่ำมาลงทุน
4. ยกระดับมาตรฐานธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศให้มีการดำเนินงาน และการให้บริการแก่ลูกค้าที่เหมาะสม ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ลูกค้าคาดหวังได้จากบริการของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม การกำกับเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานอันอาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากของประชาชน และรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
ซึ่ง หากบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งที่มีหรือไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังต่อไปนี้ให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี
ขณะที่ ธุรกิจที่มีธุรกิจหรือกิจกรรมหลัก (core business/main activities) เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นใดที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย อาจกำหนดให้มีการทดสอบโดยนำแนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยแนวทางการเข้าร่วมทดสอบ และพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) มาใช้โดยอนุโลม ด้วยก็ได้
ซึ่งในการขอจัดตั้งหรือมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน บริษัทแม่ต้องมั่นใจว่ากลุ่มธุรกิจทางการเงินมีความมั่นคงโดย มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากบริษัทดังกล่าว กล่าวคือ เมื่อนำเงินลงทุน ในบริษัทดังกล่าวมาหักออกจากเงินกองทุนทั้งสิ้นของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแล้ว กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ยังสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกำกับดูแลเงินกองทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของทั้งขอบเขตของการเข้าไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถออก และถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือคุณภาพในการให้บริการธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจสนับสนุน
โดยให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรายกรณี และธนาคารแห่งประเทศไทย อาจกำหนดให้มีการทดสอบโดยนำแนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยแนวทางการเข้าร่วมทดสอบ และพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox)มาใช้โดยอนุโลม ด้วยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเพิ่มบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกรณีบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเพิ่มหรือขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม
รวมถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแม้ไม่ได้ทำให้มีการเพิ่มหรือลดบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น การย้ายบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจากเดิมที่บริษัทแม่โฮลดิ้งถือหุ้นโดยตรง เป็นการถือหุ้นผ่านบริษัทลูกอื่นแทน (แม้ว่าบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นจะยังคงเป็นบริษัทนอก Solo Consolidation เช่นเดิมก็ตาม)
สำหรับธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุนส่วนน้อยในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการลงทุนของสถาบันการเงินหรือของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแล้วแต่กรณี แต่ห้ามลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน หรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้สินเชื่อทุกรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าบุคคลธรรมดา เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่อที่มีการรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักประกัน เพื่อดูแลปัญหาการกู้ยืมเพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจมีผลกระทบต่อปัญหาคุณภาพลูกหนี้และปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ในด้านการจำกัดปริมาณการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset RelatedBusiness Limit)
ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถให้ สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด โดยรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 3%ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ขณะที่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ต้องจำกัดปริมาณการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 3%ของเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
โดยหากกลุ่มธุรกิจทางการเงินลงทุนเกินอัตราส่วนดังกล่าวให้หักส่วนที่เกินอัตราส่วนดังกล่าวออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equitytier 1: CET1) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเต็มจำนวน ตามที่กำหนด และให้บริษัทแม่หารือ ธปท.ในเรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการเป็นรายกรณี
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์การดำเนินธุรกิจภายใต้อัตราส่วนที่กำหนดข้างต้น ให้บริษัทแม่จัดทำรายงานข้อมูลโดยแยกข้อมูลรายบริษัท และภาพรวมของกลุ่มธุรกิจทางการเงินอย่างเพียงพอ และจัดทำไว้เป็นรายไตรมาส เพื่อให้ผู้ตรวจการสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบได้ หรือจัดส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อร้องขอ ทั้ง ปริมาณการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ที่ธนาคารพาณิชย์ และแต่ละบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้แก่ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งใน และนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
รวมถึงการทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ที่แต่ละบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับในการดำเนินธุรกิจ (source of fund) จากบริษัทใน และนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน
อย่างไรก็ดี หากบริษัทแม่สามารถพิสูจน์ต่อ ธปท.ได้ว่าบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลใดมีการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น ด้านธรรมาภิบาล ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง การดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี และด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism and the Proliferation รวมถึงการคุ้มครองผู้ใช้บริการ (ConsumerProtection) และการประเมินความเหมาะสมของลูกค้า (Client Suitability) ได้อย่างเหมาะสม ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ลูกค้าคาดหวังได้จากบริการของธนาคารพาณิชย์
ธปท.อาจพิจารณาให้ไม่ต้องนับการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในการคำนวณ
Digital Asset Related Business Limit ตามข้างต้นได้ โดยให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์