คลังปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.4% จาก 3.5%
คลังปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 3.4% จาก 3.5% ผลจากการขยายตัวของการลงทุนที่ลดลงจาก 5.7% เหลือ 5.1% ขณะที่ ส่งออกขยายตัวได้ดี 8.1% ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดเพิ่มเป็นกว่า 10 ล้านคน จาก 8 ล้านคน หนุนบริโภคภายในดีขึ้น ส่วนปี 66 คาดการณ์จีดีพี 3.8% นักท่องเที่ยวพุ่งกว่า 21 ล้านคน
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่อยู่ 3.5% เหตุสำคัญคือ การลงทุนที่ขยายตัวลดลงจาก 5.7% จาก 5.1% ผลจากการก่อสร้างที่ลดลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลง และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ โดยยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จำนวน5.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6,477 ต่อปี และคาดว่าตลอดทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 10.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 8.0 ล้านคน ส่งผลให้รายได้ของแรงงาน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ซึ่งเป็นฐานการบริโภคภาคเอกชนที่สำคัญ ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 7.4 ต่อปี ประกอบกับรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศหลายมาตรการ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งได้มีส่วนในการสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.4 ถึง 8.4)
ขณะที่ การส่งออกสินค้าในปี 2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มคลี่คลายลง โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.6 ถึง 8.6) ซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.6 ถึง 5.6)
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.7 ถึง 6.7) จากสถานการณ์ราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย อีกทั้งภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการดูแลค่าครองชีพให้แก่ภาคประชาชน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ -2.7 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.2 ถึง -2.2 ของ GDP) จากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
สำหรับในปี 2566 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 ถึง 4.8) โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 21.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 109 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น และสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 4.2) ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 ถึง 3.5) รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี(ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 ถึง 4.7) จากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 ถึง 3.9) ปรับลดลงตามราคาพลังงาน ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 2.1 ของ GDP)
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่อาจเข้ามาท่องเที่ยวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ ตามแนวทางการเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมทั้ง นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย และปัจจัยเสี่ยง อาทิ การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากที่เผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงาน และด้านอาหาร และกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์