ปีหน้าลงทุนอะไรดี
ปีนี้จัดเป็นปีที่ลงทุนยากมาก เพราะมีตราสารทุนน้อยประเภทที่ลงทุนแล้วได้กำไร ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย หุ้นโลก หุ้นเมกะเทรนด์ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หรือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นก็แต่เงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ ตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงราคาน้ำมันดิบ
ในฝั่งของหุ้น นับจากต้นปีตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนติดลบถึง -24% ในขณะที่ตลาดพัฒนาแล้วติดลบ -18% ในจำนวนตลาดหุ้นทั้งหมด มีแค่ 13 ตลาดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และมี 2 ตลาดเท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อโลกที่ 7.4%
อย่างที่ทราบกันดี ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดทุนทั่วโลก มาจากเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ส่งผลให้เฟดต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรุนแรงและเร่งด่วน แบบไม่เคยทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ รวมทั้งสงครามรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ และมาตรการโควิดที่ยังคงเข้มงวดของจีน ถึงแม้เริ่มมีการผ่อนคลายบ้างแล้ว
ในสถานการณ์แบบนี้ นักลงทุนควรจะทำอย่างไรดี?
ผมเชื่อในทฤษฎีการลงทุนระยะยาว และมองว่าราคาสินทรัพย์หลายประเภทในตลาดทุนโลก เริ่มเข้าสู่จุดที่น่าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสหรัฐ หุ้นเทคโนโลยี หุ้นไทย หุ้นกู้เอกชน พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนมากกว่า 3 ปี น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้
แต่สำหรับนักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะ 6-12 เดือน ปีหน้าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทาย เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหลายประเทศขนาดใหญ่มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แม้ว่าเงินเฟ้อในหลายประเทศน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่คงไม่ลดลงง่ายๆ โดยเฉพาะใน สหรัฐ สหภาพยุโรป และอังกฤษ ซึ่งแปลว่าโอกาสที่จะเห็นธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ผ่อนนโยบายการเงินในปีหน้า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ซึ่งเป็นที่มาของการคาดการณ์ว่าประเทศเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า จากการใช้นโยบายการเงินที่หลายนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเข้มงวดเกินไป
ภาวะ inverted yield curve (ดอกเบี้ยสั้นแพงกว่าดอกเบี้ยยาว) ของพันธบัตรสหรัฐตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา คืออีกสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ มีค่อนข้างแน่นอน
การที่ประเทศขนาดใหญ่เหล่านี้ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของ GDP โลก ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงตาม สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี (ไม่รวมปี 2009 ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก และปี 2020 ที่เกิดวิกฤตโควิด)
การลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงใช้นโนบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ คือโจทย์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับนักลงทุนในปีหน้า
จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า ตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยมักให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในปีนั้น ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาความเสี่ยงให้รอบด้าน ถ้าจะลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
ตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ลดลงแล้ว 20% จากจุดสูงสุด อาจดูน่าสนใจ แต่ค่า forward P/E ที่ 17 เท่า ยังดูค่อนข้างสูงในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ผมแนะนำนักลงทุนที่สนใจหุ้นสหรัฐ ควรเน้นลงทุนในหุ้น defensive เช่น healthcare, utilities หรือ consumer staples เพื่อลดความเสี่ยง
แน่นอน การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเป็นช่วงๆ หรือที่เรียกว่า bear market rally ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นนักลงทุนที่ชำนาญด้าน timing น่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาส outperform ตลาดหุ้นโลกอีกปีในปีหน้า เห็นได้จากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าถึง 180,000 ล้านบาทในปีนี้ และยังไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญคือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่เร่งขึ้น ความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย และแนวโน้มแข็งค่าของเงินบาท
การเมืองคือปัจจัยเสี่ยงหลักของตลาดหุ้นไทย ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าผลการเลือกตั้งในปีหน้าจะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้นหรือแย่ลง
นักลงทุนที่สนใจตลาดหุ้นจีนยังคงต้องระมัดระวังสูง เพราะในระยะหลัง จีนเริ่มใช้มาตรการที่ไม่เป็นมิตรกับตลาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนรัฐบาลจีนจะเริ่มให้ความสำคัญกับรัฐวิสาหกิจ มากกว่าภาคธุรกิจเอกชน
สำหรับตราสารหนี้ ผมแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพราะผลตอบแทนที่สูงกว่า 4% เริ่มน่าสนใจมาก หุ้นกู้ในประเทศ คืออีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าลงทุน
ทองคำ สามารถซื้อลงทุนได้ แม้จะยังไม่มี upside มากเท่าไหร่ในช่วงนี้ แต่ราคามีโอกาสปรับขึ้นเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง