กสิกรไทย ชู ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’ รุกนำเทคโนโลยีขยายฐานลูกค้า
กสิกรไทย เดินหน้ายุทธ์ศาสตร์ ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ หวังเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน เปิดสินเชื่อ9เดือน ปล่อยเงินกู้ขนาดเล็กแล้ว2.3หมื่นล้าน เข้าถึงคนกว่า5แสนคน
ภายใต้การประกาศเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า “แสนล้านบาท” ของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เพื่อเป็นการต่อยอดเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” ที่จะขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ “คนไทย”สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินทั้งในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงระดับประชาชนที่ยังไม่เคยสัมผัสและเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร (แบงก์)
“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า หากแบงก์กสิกรไทยสามารถช่วยประชาชนทั่วไป คนที่ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเข้าถึงระบบแบงก์ได้รวดเร็ว อาจจะช่วยให้คนหลากหลายคน “หลุดพ้น” จากวงจรหนี้นอกระบบที่ปัจจุบันมีการคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมากหรือกว่า 200%
อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “แบงก์กสิกรไทย” เร่งเดินหน้าให้สู่เป้าหมายที่ต้องการผสานความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์ให้เข้ากับองค์กรแห่งนี้โดยเร็ว
เพื่อเร่งขยายการให้บริการธนาคารไปยังกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร เนื่องจากอยู่นอกเกณฑ์การพิจารณาประเมินสินเชื่อแบบเดิม ๆ เพื่อช่วยให้กลุ่มคนที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ หลุดพ้นจากกับดักหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงเร็วขึ้น
สำหรับ ผลของการเดินหน้า เร่งการขยายบริการของแบงก์กสิกรไทยไปสู่กลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก อย่าง กลุ่มผู้ประกอบการอาชีพอิสระ , ผู้ที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ที่แน่นอน ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กของแบงก์กสิกรไทยเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนผ่านการปล่อยสินเชื่อในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2565) สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือไปจำนวน 500,000 คนแล้ว หรือ คิดเป็นมูลค่าวงเงินการปล่อยกู้สินเชื่อประมาณ 23,000 ล้านบาท !
“เราอยากจะช่วยคนนับล้านๆ ให้เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารได้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเพื่อที่จะสามารถบรรลุภารกิจข้างต้น รวมถึงยกระดับการให้บริการลูกค้าปัจจุบันของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย”
ด้าน “กฤษณ์ จิตต์แจ้ง” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เป้าหมายของแบงก์กสิกรไทย นั่นคือ การขยายโอกาสการเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของแบงก์กสิกรไทยที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักไปสู่ผู้คนเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 1 ล้านคน ภายใน 18 เดือน และในอีก 24 เดือน จะขยายเป็นราวๆ 2 ล้านคน
สะท้อนผ่านโครงการเชิงกลยุทธ์ของกสิกรไทยที่ประกาศไปเมื่อช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ที่มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยจำนวนกว่า 30 ล้านคน ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
นี่คือ สิ่งที่แบงก์กสิกรไทย เรียกว่า เป้าหมายการผสานเอาความเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” เข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร โดยโครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล้ำสมัย และวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ของแบงก์มาช่วยผู้คนที่ทำงานอาชีพอิสระ เกษตรกร และเจ้าของกิจการขนาดเล็กๆ ผู้ที่อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรืออาจจะมีไม่เพียงพอ ให้สามารถขอเงินกู้ได้ โดยใช้การประเมินที่เป็นธรรมมากขึ้นจากการพิจารณาที่ความสามารถและความตั้งใจในการชำระคืนเงินกู้ของผู้กู้
โดยทำให้ที่ผ่านมา มีกลุ่มที่ได้รับเงินกู้นี้ มีประมาณ 63,000 ราย เป็นเจ้าของกิจการที่มีรายได้น้อยกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี กู้ผ่าน “โครงการสินเชื่อเงินด่วนเพื่อธุรกิจ” ในช่วงตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. คิดเป็นวงเงินปล่อยกู้รวมเกือบ 5,000 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นกว่า 215,000 ราย หรือได้รับเงินกู้สูงสุดถึง 20,000 บาทต่อราย ผ่านโครงการ “K PAY LATER” ของแบงก์กสิกรไทย
และสิ่งที่ธนาคารเห็นชัดเจนผ่านการให้เงินกู้ผ่าน K PAY LATER ที่ถูกนำไปใช้ในการซื้อของใช้ประจำวันที่จำเป็น เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่ขายของใช้จำเป็น ผ่านทางพันธมิตรของเรา อาทิ บิ๊กซี , โลตัส , ซี เจ เอ็กซ์เพรส , ปตท. , เซ็นทรัล และ แม็คโคร หากดูจำนวนทำธุรกรรมผ่าน K PAY LATER ก็เพิ่มขึ้นถึง “10เท่า” ในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงระบบแบงก์ และได้เห็นว่าผู้กู้มีความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้เป็นอย่างดีก็จะเพิ่มวงเงินกู้ให้คนกลุ่มนี้ และขยายเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอื่นๆ เพิ่มเติมให้กับหลายๆ คนในกลุ่มนี้ได้อีกด้วย
ท้ายสุด นอกจากการ “ยกระดับ”การให้บริการผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนให้ธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้นแล้ว ระยะข้างหน้ากสิกรไทยยังไม่หยุด “เดินหน้า” การลงทุนต่างๆ ในเรื่องเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในปีนี้ และช่วง 2 ปีข้างหน้าต่อเนื่อง