"ผู้ค้ำประกัน" ต้องจ่ายแทนลูกหนี้แค่ไหน? เปิดกฎหมายคุ้มครองที่ต้องรู้
เป็นคนค้ำมันช้ำใจ! "ผู้ค้ำประกัน" ต้องจ่ายแทนลูกหนี้แค่ไหน? เมื่อคน "กู้เงิน" เบี้ยวหนี้ ชวนรู้กฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันที่มีการปรับปรุงใหม่ ที่คนค้ำไม่จำเป็นต้องแบกรับหนี้ทั้งหมด
แม้วิกฤติโรคระบาดโควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่วิกฤติเศรษฐกิจยังคงกระทบกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้คนที่หาเช้ากินค่ำหรือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ต่างก็หมุนเงินไม่ทันจนต้อง “กู้เงิน” มาบรรเทาปัญหาด้านการเงิน ซึ่งแหล่งเงินกู้หลายแห่งต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” ถึงจะกู้เงินได้
ในส่วนของผู้ค้ำประกันเอง ก่อนที่จะไปค้ำประกันให้ใคร ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะหากผู้กู้ไม่สามารถจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ได้ ผู้ค้ำประกันก็จะต้องเป็นผู้ชดใช้หนี้ให้แทน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้พบว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ต้องตกอยู่ในสถานะคนค้ำต้องจำใจจ่ายหนี้ที่ตนไม่ได้ก่อ
ประเด็นนี้มีคำแนะนำจาก “โค้ชหนุ่ม” จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน เจ้าของเพจ The Money Coach ระบุถึงการเป็นผู้ค้ำประกันผ่านเพจไว้ว่า
“ก่อนค้ำประกันให้ใคร ถามตัวเองให้ดีว่าพร้อมรับหนี้ก้อนนั้นแทนมั้ย อย่าคิดเอง เออเอง ว่าลูกหนี้เป็นคนดีแล้วจะไม่เบี้ยว คิดให้จบว่าถ้าเบี้ยว เรารับหนี้ไหวมั้ย ถ้าไม่ไหวหรือรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องรับหนี้แทนคนอื่น ก็อย่าเซ็นค้ำประกัน ผ่อนหนี้แทนคนอื่น มันเหนื่อยทั้งเงินเหนื่อยทั้งใจ”
โดยหลังจากโพสต์คำแนะนำดังกล่าวไปไม่นาน ก็มีชาวเน็ตต่างมาร่วมแชร์ประสบการณ์การเป็นผู้ค้ำประกัน ที่ต้องเสียเงิน เสียเพื่อน เสียความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องไปมากมายหลายเคส และมีการถกเถียงถึงคำถามสำคัญที่ว่า “การเป็นผู้ค้ำประกัน แม้ไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรงแต่ก็ต้องชดใช้หนี้ให้แทน แล้วต้องจ่ายหนี้แทนแค่ไหน?” เพราะผู้ค้ำหลายคนกังวลว่าจะต้องชดใช้ “หนี้ทั้งหมด” แทนลูกหนี้ จนตัวเองอาจถึงขั้นล้มละลายไปด้วย
เรื่องนี้ “ผู้ค้ำประกัน” สบายใจได้ส่วนหนึ่ง เพราะตอนนี้ผู้ค้ำไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้แล้ว เนื่องจากมีกฎหมายใหม่ที่ปรับปรุงเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้นกว่าในอดีต
มีข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม ระบุถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า ทุกครั้งที่เกิดการเบี้ยวหนี้ ผู้ค้ำประกันมักเสียเปรียบเจ้าหนี้และต้องแบกภาระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามแก้ไขและผลักดันกฎหมายหลายฉบับออกมา เพื่อปกป้องสิทธิผู้ค้ำประกันให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการบังคับใช้ตาม “กฎหมายค้ำประกัน” ฉบับปรับปรุงใหม่ 2558
โดยกำหนดให้ธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ มาตรา 689
ข้อควรรู้สำหรับ “ผู้ค้ำประกัน”
แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แต่หากบุคคลที่เราไปค้ำประกันให้ ไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ติดตามเรียกลูกหนี้มาชำระหนี้ก่อนตนได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ใด
และหากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีหนทางที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สรุปข้อควรรู้สำหรับ “ผู้ค้ำประกัน” อ้างตามกฎหมายปรับปรุงใหม่มาให้แล้วดังนี้
1. ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันให้ใคร ควรตกลงกับลูกหนี้เพื่อกำหนดเพดานชำระหนี้แทนให้ดี และเซ็นสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร
2. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดให้แทนลูกหนี้ทุกประการอีกต่อไป หมายถึงว่า ผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระหนี้แทนในส่วนของตนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย
3. หลังจากที่ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ย โดยฟ้องลูกหนี้เรียกเงินตามจำนวนที่ชำระไปแทนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ได้
4. ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบก่อนภายใน 60 วัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันในทันที จนกว่าพยายามไล่เบี้ยหรือเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว
จะเห็นได้ว่ากฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่นี้คุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้น แต่ขอย้ำอีกที! ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันให้ใคร ก็ควรจะต้องถามตัวเองว่าพร้อมจะรับหนี้ที่ตนเองไม่ได้ก่อได้มากน้อยแค่ไหน และควรตั้งคำถามนี้กับลูกหนี้ถึงความสามารถในการชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นด้วย
--------------------------------------------------
อ้างอิง : กระทรวงยุติธรรม, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายผู้ค้ำประกัน, The Money Coach