หรือว่า "ดอลลาร์" จะสูญเสียความเป็น Reserve Currency หลักในโลก
Reserve Currency คือ เงินตราต่างประเทศที่ธนาคารกลาง และสถาบันการเงินใหญ่ๆ ในโลกถือไว้เป็นจํานวนมาก เพื่อใช้ในการค้า การลงทุนและการชําระหนี้ระหว่างประเทศ
ในการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์สําคัญในตลาดโลก เช่น ทองคำ น้ำมันก็จะอยู่ในรูปของ Reserve Currency ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1944 ประเทศ 44 ประเทศได้ตกลงกันที่เมือง Bretton Woods ที่จะให้ดอลลาร์เป็นเงินตราที่จะใช้ในธุรกรรมระหว่างประเทศ
โดยประเทศต่างๆ จะผูกค่าเงินของตนไว้กับดอลลาร์ และดอลลาร์ก็จะผูกไว้กับทองคำ อีกต่อหนึ่ง ในอัตรา $35 ต่อทองคำ 1 Troy ounce
นี่เป็นจุดกําเนิดของ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate System) ดังนั้น ถ้าอเมริกาทํานโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง ก็จะรักษาค่าของเงินสกุลที่ผูกอยู่กับดอลลาร์ตามไปด้วย
ในตอนแรก ประเทศต่างๆ ก็ได้ประโยชน์จากการกําหนดค่าเงินของตนไว้กับดอลลาร์ และใช้ดอลลาร์ในการขยายตัวทางการค้า และการลงทุนต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าการค้าโลก และการพัฒนาเศรษฐกิจ ความต้องการเงินดอลลาร์ในธุรกรรมระหว่างประเทศมีสูงขึ้นมาก
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 อเมริกามีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินเฟ้อสูง จากการใช้จ่ายเงินจํานวน มากในสงครามเวียดนาม และนโยบาย 'Great Society' ของอเมริกา เงินดอลลาร์เสื่อมค่าลง
กลไกตามข้อตกลงที่ Bretton Woods ไม่สามารถช่วยให้เกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจได้ อีกทั้งทุนสํารองทองคําลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 1973 ประธานาธิบดีนิกสัน จึงประกาศยกเลิกการผูกค่าดอลลาร์ไว้กับทองคำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Flexible Exchange Rate System)
แม้ดอลลาร์จะไม่มีทองคําหนุนหลัง แต่ดอลลาร์ก็ยังคงเป็น Reserve Currency หลักของโลก มาตลอดเกือบ 80 ปี เพราะสภาพคล่องที่มีสูงมาก
แต่ละประเทศมีดอลลาร์อยู่ในทุนสํารองจํานวนมาก และเพราะดอลลาร์ถูกหนุนหลังด้วยพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ที่ถือว่า มั่นคงที่สุดในบรรดา 'สินทรัพย์กระดาษ' (paper assets) ในโลก
อเมริกาจึงถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบทุกประเทศ ในการที่สามารถใช้เงินของตนทําธุรกรรมต่างประเทศได้
และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดเงินสกุล 'ยูโร' จากการรวมกลุ่มประเทศในยุโรปเพื่อให้มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีเงินตราสกุลเดียวกันที่มีจํานวนมาก และสภาพคล่องสูง
นอกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ และการเมืองแล้ว การเกิดเงินสกุลยูโรจะสามารถเป็น 'heavy weight' มาเทียบเคียงดอลลาร์ได้
แต่จนถึงปัจจุบัน เงินยูโรก็ทําได้เพียงเป็น Reserve Currency หนึ่งใน 5 ของโลก ยังไม่สามารถท้าทายดอลลาร์ได้มากนัก เพราะปัญหาความผันผวนของเงินยูโรตั้งแต่เริ่มแรก และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรเอง
สิ้นปี 2021 มีเงินยูโรอยู่ประมาณร้อยละ 20 ในทุนสํารองของโลกเทียบกับดอลลาร์ที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 60
ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความคลางแคลงในดอลลาร์เริ่มมีมากขึ้นอีกครั้งทั้งจากการใช้จ่ายที่เกินตัวของอเมริกา การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการทํานโยบายการเงินที่ 'เหนือความคาดหมาย'
รวมทั้งการรวมกลุ่มของประเทศ เช่น BRICS EEC (Eurasia Economic Union) ที่แสดงเจตนารมณ์ที่จะลดการใช้ดอลลาร์ในธุรกรรมระหว่างประเทศ ทําให้คนเริ่มตั้งคําถามว่า ดอลลาร์จะสูญเสียความเป็น Reserve Currency หลักหรือไม่
คาดว่า ดอลลาร์จะยังคงรักษาสิ่งนี้ไปได้อีกนาน เพราะขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก (23 ล้านล้านดอลลาร์) มีสภาพคล่องในตลาดมาก ที่สําคัญ อเมริกามีตลาดการเงินที่กว้าง ลึก และเปิดเสรี นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องยังทําให้ดอลลาร์เข้าไปอยู่ในมือของประเทศต่างๆ จํานวนมาก
ในระยะยาว ดอลลาร์อาจสูญเสียความเป็น Reserve Currency หลักของโลก เพราะ Reserve Currency มีวัฏจักรของมัน เหมือนที่เราเห็นเงินสเปนในศตวรรษ 16 เงินดัตช์ในศตวรรษที่ 17 เงินฟรังก์ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 และเงินปอนด์ในศตวรรษที่ 19
มีคนคาดกันว่า ในอนาคต เงินหยวนจะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์เพราะความเป็นพลวัตของเศรษฐกิจจีน
ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ (17 ล้านล้านดอลลาร์) และเป็นประเทศที่ส่งออกมากที่สุดในโลก แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะจีนจะต้องทํานโยบายสําคัญๆ อีกมากกว่าจะไปถึง
ที่สําคัญคือ การเปิดเสรีเงินทุน และการพัฒนาตลาดการเงิน เพราะธนาคารกลาง และสถาบันการเงินหลักจะถือหยวนไว้ในทุนสํารองได้มากสักเท่าไร หากไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์สกุลหยวนได้อย่างเสรี.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์