ทําไมเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อปีหน้า | บัณฑิต นิจถาวร
การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เมื่ออาทิตย์ที่แล้วร้อยละ 0.50 เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาด และที่ไม่เเปลกใจคือที่เฟดยํ้าว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องขึ้นต่อในปีหน้า
ทําให้ตลาดหุ้นตอบรับเชิงลบเพราะห่วงผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจ จากที่ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยจะยิ่งมีมากขึ้น คําถามคือ ทําไมเฟดยังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า อะไรคือเหตุผล นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอีกร้อยละ 0.50 สอดคล้องกับการสื่อสารที่เฟดได้ให้ไว้ในการแถลงข่าวหลังการประชุมคราวที่แล้ว ที่ว่างานยังไม่จบ เงินเฟ้อยังสูงกว่าเป้าที่ร้อยละ 2 และมีการบ้านที่ต้องทําต่อ
แต่ที่แตกต่างคือคราวนี้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.50 เทียบกับร้อยละ 0.75 ในการขึ้นดอกเบี้ยสี่ครั้งที่ผ่านมา ชี้ถึงความเร่งรีบที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อได้ลดลง จากที่
หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีท่าทีชะลอลงชัดเจน อัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนขยายตัวร้อยละ 7.1 ลดลงจากร้อยละ 7.7 เดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้าจากระดับสูงสุดร้อยละ 9.1 เดือนมิถุนายนปีนี้
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและนํ้ามัน ก็ขยายตัวลดลงในเดือนพฤศจิกายน เหลือร้อยละ 6 เทียบกับร้อยละ 6.3 เดือนตุลาคม แสดงถึง เเรงกดดันเงินเฟ้อที่ได้ผ่อนคลายลงต่อเนื่อง
สอง ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงในเดือนพฤศจิกายน เป็นไปตามเป้าของธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการใช้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยชะลอการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อลดช่องว่างระหว่างการใช้จ่ายและการผลิตเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
ล่าสุดตัวเลขชี้ว่าการใช้จ่ายในเศรษฐกิจสหรัฐชะลอต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคและการลงทุนรวมถึงภาคที่อยู่อาศัย เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสสาม
คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตํ่า จนห่วงกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คือขยายตัวติดลบ
สาม ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectations) โดยผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เฟดให้ความสําคัญเพราะแสดงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่ภาคธุรกิจคาดว่าจะเกิดขึ้น
ซึ่งถ้าเพิ่มขึ้นก็หมายถึงมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะปรับราคาสินค้าขึ้นในอนาคต
ล่าสุด ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อคาดหวังเดือนพฤศจิกายนลดลงในทุกระยะเวลาคือ ทั้งการคาดหวังระยะสั้น 1 ปี กลาง 3 ปีและยาว 5 ปี รวมถึงราคาบ้านคาดหวังในอนาคตก็ลดลงเช่นกัน แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่จะมีเสถียรภาพ ไม่เร่งตัวขึ้น
ทั้งหมดแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐกําลังปรับตัวในทิศทางที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องการเห็นในแง่การทํานโยบายการเงินเพื่อลดเงินเฟ้อ
คือเงินเฟ้อชะลอ อัตราเงินเฟ้อคาดหวังมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าระดับแนวโน้ม ทุกอย่างดูดีและดูเป็นไปตามแผน
คําถามคือถ้าทุกอย่างไปตามแผน ทําไมเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อปีหน้า หรือไม่ห่วงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ผมว่าเหตุผลเรื่องนี้คงมีมาก แต่ที่เฟดย้ำที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีหน้าคงมาจากสองเรื่อง
หนึ่ง ความกลัวว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวใหม่ คือยังไม่จบ ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก ที่อาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวอีกรอบ เช่น ราคานํ้ามัน ราคาพลังงาน ที่โยงกับภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้ ถ้าจีนบริหารการเปิดประเทศได้ดี ไม่มีความเสี่ยงการระบาดใหญ่ของโควิด การกลับมาขยายตัวในอัตราที่สูงของเศรษฐกิจจีนก็จะดึงให้การใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลกเร่งตัวขึ้น กดดันให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบที่จะปรับสูงขึ้น
ที่สำคัญ ถ้าธนาคารกลางสหรัฐหยุดการขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป หรือกลับไปลดดอกเบี้ย เพราะห่วงเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่มีการวิเคราะห์กัน บทเรียนจากอดีตชี้ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาแน่นอน เป็นบทเรียนที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญและตอกย้ำอยู่ตลอด
สอง แม้เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ไปแล้วทั้งหมดร้อยละ 4.25 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.5 แต่อัตราดอกเบี้ยก็ยังตํ่ากว่าอัตราเงินเฟ้อ คืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ชี้ว่านโยบายการเงินยังผ่อนคลายมาก
ที่เฟดต้องการเห็นและย้ำเป็นครั้งแรกในการแถลงข่าวอาฑิตย์ที่แล้วคือ ภาวะการเงินที่ตึงตัวมากพอที่จะดึงให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่งในปัจจุบันภาวะการเงินยังไม่ตึงตัวพอ
สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ยังติดลบ ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังสามารถเพิ่มได้อีกและเฟดยังต้องการดูดเงินออกจากระบบเพื่อลดสภาพคล่องที่มีในระบบ เพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัวกว่าที่เป็นอยู่
ดังนั้นที่เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อปีหน้า จริงๆ ก็คือการนําอัตราดอกเบี้ยกลับสู่ระดับที่เป็นปรกติมากขึ้น คืออัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก
หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐได้อยู่ในระดับตํ่ามากเป็นเวลานาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยมาตรการคิวอี ซึ่งทําให้เกิดการบิดเบือนในการจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศ
ผมคิดว่านี้คือสองเหตุผลหลัก
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล