ธนารักษ์เผยยอดผลิตเหรียญกษาปณ์ทยอยลดลงผลจากประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ธนารักษ์เผยยอดผลิตเหรียญกษาปณ์ทยอยลดลงผลจากประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ธนารักษ์เผย ยอดผลิตเหรียญกษาปณ์ทยอยลดลงผลจากประเทศได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยปีงบ 66 มีแผนผลิตเหรียญกษาปณ์ลดลงประมาณ 1 พันล้านเหรียญ ลดลง 600 ล้านเหรียญจากปี 65

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า ขณะนี้ จำนวนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ผลิตขึ้นใหม่เพื่อเติมเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศได้ปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จำนวนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ผลิตขึ้นใหม่ ในปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ กรมฯได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 1,070 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีการผลิตที่ 1,600 ล้านเหรียญ และคาดว่า ในอนาคต จำนวนเหรียญผลิตใหม่ที่จะสู่ระบบเศรษฐกิจ คงลดลงอีก ไปอยู่ที่ ราว900 ล้านเหรียญ ถึง 1 พันล้านเหรียญ ต่อปี

อย่างไรก็ตาม นายจำเริญ กล่าวว่า จำนวนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จะยังไม่ลดลงมากนัก เนื่องจาก มีเหรียญจำนวนหนึ่งที่ชำรุดและถูกทำลาย ทำให้กรมฯต้องผลิตทดแทน ซึ่งกรมฯได้มีหน่วยรับแลกเหรียญคืนจากประชาชน องค์กร และศาสนสถานต่างๆ ที่คนมักบริจาคเป็นเหรียญ โดยกรมฯจะรับแลกเหรียญเหล่านั้นกลับคืนมา และนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งโดยรวมแล้ว จะมีการนำเหรียญกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญ ถึง 3 พันล้านเหรียญต่อปี

ปัจจุบันมีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ 3.8 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาท

เขากล่าวว่า แม้ว่า จำนวนความต้องการใช้เหรียญจะลดลงก็ตาม แต่ความต้องการใช้เหรียญในระบบการค้ายังมีอยู่ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจฐานราก เช่นพ่อค้าแม่ค้าในตลาด

ทั้งนี้ การผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนใหม่ที่ทยอยลดลง ทำให้รายได้ของกรมฯ ที่ได้รับจากการผลิตเหรียญลดลงด้วย โดยคาดว่า ในปีงบประมาณ 2566 จะมีรายได้จากการผลิตเหรียญประมาณ 900 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2565 ที่มีรายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 พันล้านบาท ดังนั้น เพื่อรักษารายได้จากการผลิตเหรียญ กรมธนารักษ์ จึงต้องปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (ไม่ใช่เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน) เพื่อสร้างความน่าสนใจให้คนหันมาสะสม รวมถึง การรับจ้างผลิตเหรียญที่ระลึกให้กับภาคเอกชน และประเทศอื่น

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเคย(ธปท.)ระบุว่า พร้อมเพย์ ถือเป็น Game Changer ของการที่ประเทศไทยสามารถเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดย "พร้อมเพย์" เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (real-time) ที่ใช้หมายเลขอ้างอิงอื่นแทนเลขที่บัญชีธนาคารที่จดจำยาก เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล และ e-Wallet ID ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง เปรียบได้กับการสร้างถนนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รองรับรถได้หลายประเภท ทำให้สามารถเข้าถึงท้องที่ต่างๆ ได้ทั่วถึงมากขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนและธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ภาครัฐใช้เป็นเครื่องมือในการรับ - จ่ายเงินได้อย่างคล่องตัว ถึงมือผู้รับโดยตรง ถูกต้อง และโปร่งใส

ทั้งนี้ พร้อมเพย์เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และธปท.ในการขับเคลื่อนโครงการ National e-Payment ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบพร้อมเพย์ที่เอื้อให้การโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำได้ "ถูก ง่าย สะดวก และปลอดภัย" ได้มาตรฐานสอดรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่