สรรพากรเชื่อม”พร้อมบิส” Game Changer ขยายฐานภาษี
กรมสรรพากรเตรียมเชื่อมระบบชำระภาษีกับระบบเพย์เมนท์”พร้อมบิส”ที่ธปท.วางแผนนำมาใช้กับภาคธุรกิจในกลางปีหน้า เพื่อขยายฐานการชำระภาษีเงินได้จากภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาเชื่อมกับระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภายใต้แผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับรัฐบาล หนึ่งในกรมจัดเก็บที่ต้องมีการปฏิรูปรายได้ คือ กรมสรรพากร เพราะถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยมียอดจัดเก็บคิดเป็นกว่า80% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล ดังนั้น กรมฯจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการขยายฐานภาษี
“ระบบเพย์เมนท์ ที่เรียกว่า พร้อมบิส(Prompt Biz) ที่ ธปท.จะนำมาใช้ในกลางปีหน้านั้น นอกจากจะเปลี่ยมโฉมการชำระเงินของภาคธุรกิจแล้ว ยังจะเปลี่ยนโฉมการชำระภาษีในภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญของกรมสรรพากรอีกด้วย โดยเรามีแผนที่จะนำระบบe-Tax Invoice เข้าไปเชื่อมกับระบบพร้อมบิส ซึ่งเราได้หารือกับธปท.เรียบร้อยแล้ว”ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
ลวรณกล่าวว่า ระบบการชำระเงินพร้อมบิสดังกล่าว ถือเป็นระบบการชำระเงินที่ใหญ่มาก เพราะจะมีข้อมูลตั้งแต่คำสั่งซื้อ คำสั่งขาย และ ส่งข้อมูลกันแบบเรียลไทม์ ภาคธุรกิจที่เข้าระบบดังกล่าว จะมีต้นทุนการชำระเงินที่ถูกลง เมื่อเรานำระบบชำระเงิน e-Tax Invoice เข้าไปเชื่อมแล้ว จะทำให้เราสามารถรู้ถึงข้อมูลของภาคธุรกิจนำไปสู่การชำระภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แก้ Pain point การคืนภาษีภาคธุรกิจ
เขากล่าวว่า เมื่อการเชื่อมข้อมูลดังกล่าว นำไปสู่ประสิทธิภาพในการชำระภาษี ก็หมายความว่า ความผิดพลาดในการเสียภาษีก็จะน้อยลง ทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องพบกับข้อพิพาทกับกรมสรรพากรในเรื่องที่ต้องเสียเบี้บปรับเงินเพิ่มต่างๆ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจใดที่เข้าสู่ระบบการชำระภาษี e-Tax Invoice ผ่านระบบการชำระเงินแบบพร้อมบิส การคืนภาษีจะไม่ตรวจด้วยคน แต่ระบบจะตรวจสอบให้ ซึ่งจะทำให้การคืนภาษีเร็วมาก ยกตัวอย่าง จากเดิมการคืนภาษีแวตจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จะเปลี่ยนเป็นภายใน 7 วันเท่านั้น
“ฉะนั้น อะไรที่เป็น Pain point ของกรมสรรพากร เช่น คืนภาษีช้า ก็จะหมดไป ต่อไปเราจะคืนภาษีแวตไม่เกิน 7 วัน จากปัจจุบันกว่า 6 เดือน เพราะผู้ประกอบการที่ขอคืนแวตมีจำนวนมาก”
ปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice น้อยมาก โดยนิติบุคคราว 5 แสนราย ใช้ระบบดังกล่าวกว่า10% เท่านั้น เมื่อเรามาดูสาเหตุ ก็พบว่า เป็นเรื่องยาก ต้นทุนสูง ภาคธุรกิจจะต้องลงทุนระบบซอฟแวร์ทางบัญชีต่างๆ ขณะเดียวกัน ในฝั่งของกรมฯนั้น ก็พบปัญหาเช่นการตรวจหน้าบ้านในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หลังบ้านกลับใช้ระบบกระดาษ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงไม่อยากเข้าระบบดังกล่าว เนื่องจากจะต้องทำทั้งสองระบบ ฉะนั้น นี่คือปัญหาที่เราต้องเข้าไปแก้
ขยายขอบเขต Service provider
กรมฯได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายกลุ่ม เพื่อเชิญชวนให้เข้าสู่ระบบ e-Tax Invoice ซึ่งเขายินดีที่จะเป็นผู้นำร่องระบบการชำระภาษีดังกล่าวให้ ส่วนรายกลางและรายเล็กน้อย เชื่อว่า ในระยะต่อไปเขาจะเข้าระบบเอง โดยเฉพาะในส่วนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจค้าปลีก
ทั้งนี้ กรมฯจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ โดยการปรับเกณฑ์การเป็น Service provider ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับ e-Tax invoice และ e-Receipt แก่กรมสรรพากร แต่ต่อไป จะสามารถทำหน้าที่เพิ่มเติมได้ ประกอบด้วย การบัญชี การชำระภาษี และ การชำระเงิน
“ขณะนี้ เรากำลังแก้เกณฑ์การเป็น Service provider เพื่อทำให้เขามีต้นทุนต่ำ ตอนนี้ เราไม่ได้บังคับว่าจะต้องสร้าง Service provider ธุรกิจขนาดเล็ก อยากทำเองได้ก็ทำ แต่ยากหน่อย แต่ถ้าอยากได้จนครบบริการก็จะมีคนให้บริการเยอะมาก เราเชื่อว่า การให้บริการเซอร์วิส ที่ต้องวิ่งหาลูกค้า ก็จะเสนอแพคเกจราคาถูกได้ ซึ่งต้นปีหน้าเราจะเชิญService providerมาให้แนวทางว่า ต่อไปนี้ นี่คือ วิถีของคุณนะ ซึ่งจะทำได้กว้างขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สตาร์ทอัพที่ทำบัญชีซอฟแวร์อย่างเดียว วันนี้ สามารถพัฒนามาเป็นService provider ได้”
ดึงข้อมูลบัตรคนจนขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดา
สำหรับการขยานฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เขากล่าวว่า กรมฯกำลังหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.เพื่อเชื่อมระบบข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ากับระบบการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมฯ เมื่อเชื่อมสองระบบเข้าด้วยกัน จะทำให้ระบบสวัสดิการกับระบบการจ่ายภาษีเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในปีหน้า
“วันนี้ เรามีระบบการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งใหญ่มาก มีคนอยู่ในระบบกว่า 10 ล้านคน ถ้าเราเอาระบบสวัสดิการเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 30 ล้านคน จากยอดลงทะเบียนล่าสุด ซึ่งอาจจะคัดกรองเหลือซัก16-19 ล้านคน เราอาจจะมีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมสองระบบเข้าด้วยกันแล้ว จะเรียกว่า ระบบภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ Negative Income Tax ซึ่งเป็นนโยบายให้เงินช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งตามปกติจะต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเหมือนผู้มีรายได้ทั่วไปด้วย
“ถ้าทำงาน มีรายได้ถึงเกณฑ์ก็วิ่งเข้ามาสู่ระบบภาษี แต่วันหนึ่งตกงาน มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีรายได้ในขั้นดำรงชีพไม่ได้หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐบาลก็ให้สวัสดิการ ทุกอย่างจะอยู่ฐานเดียวกัน รัฐบาลจะมอนิเตอร์คน 30 ล้านคน เพื่อรู้จัก และจัดสรรสวัสดิการให้ดีขึ้น เราก็มองว่า ถ้าเรามอนิเตอร์คน 30 ล้านคนที่ได้รับสวัสดิการ ซึ่งฝั่งสวัสดิการอาจจะย้ายเป็นฝั่งผู้เสียภาษีก็ได้”