สำนักงานสลาก นัดถก 5 หน่วยงานสอบลึก ‘กองสลากพลัส’ เสี่ยงเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน
สำนักงานสลาก เตรียมนัด 5 หน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อสอบเชิงลึกแพลตฟอร์มขายสลากดิจิทัล เสี่ยงโดนเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน
รายงานข่าวจาก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ สำนักงานสลากฯ จะนัดหารือกับหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะ เพื่อเข้าตรวจสอบการดำเนินธุรกิจขายสลากผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ว่า มีความผิดปกติอย่างไร ชำระภาษีถูกต้องหรือไม่ และรวมถึง ที่มาแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีไฟเขียวให้เข้าตรวจสอบ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่จะเข้าร่วมตรวจสอบ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานด้านลิขสิทธิ์ กองบัญชาการสอบสวนกลาง ตำรวจกองปราบ สำนักงานอัยการสูงสุด
“สำนักงานสลากฯจะประชุมกับหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะ เพื่อพิจารณาฐานความผิดจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ เช่น กองสลากพลัส ให้ครอบคลุมทุกประเด็น”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO กองสลากพลัส หรือ นอท กองสลากพลัส ให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการฐานทอล์ค ช่อง nation tv22 เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของสลากพลัส โดยยอมรับว่า ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีพร้อมยังเล่าถึง โมเดลธุรกิจว่า ในช่วงแรกของการทำธุรกิจ ได้ใช้เงินทุนส่วนตัว และเงินที่ได้จากการนำบ้านไปจำนอง นำรถไปขายฝาก เพราะยังขายได้ไม่เยอะ เมื่อขายได้ ก็ทำกำไรกลับเข้ามา ซึ่งธุรกิจโตเร็วมาก โตขึ้นงวดละ 1 ล้านใบ ทำให้ต้องหาเงินเพิ่ม 100 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 15 วัน เพื่อนำไปซื้อลอตเตอรี่เพิ่ม จึงทำให้ต้องหยิบยืมเงินจากเพื่อน ที่เป็นนักธุรกิจโดยจ่ายดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด
ล่าสุดนายทุนรายหนึ่งที่ให้ยืมเงิน ได้ถอนตัวออกไป เพราะหมดสัญญาร่วมทุน 1 ปี จึงได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ว่าต้องการเงินทุน 200 ล้านบาท แล้วปรากฏได้มีบุคคลทั่วไปนำเงิน 200 ล้านบาท มาให้กู้ เป็นหลักฐานว่า เป็นคนที่พอมีเครดิต
ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่างบการเงินของบริษัทที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งว่า มีเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 100 ล้านบาท ในรูปแบบสัญญาร่วมทุน มีการจ่ายเงินปันผล มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่กลับไม่ปรากฏรายการจ่ายดอกเบี้ยในงบการเงินนั้น นายพันธ์ธวัช ตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นผู้ทำให้ ต้องไปดูอีกครั้ง เพราะในปีที่แล้ว ยุ่งกับธุรกิจมาก ยืนยันได้ส่งงบการเงินแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การตรวจสอบ
การบริหารจัดการนั้น ไม่ได้จ่ายเงินซื้อสลากทีเดียวทั้งหมด เช่น ขาย 4 ล้านใบ ไม่ได้ใช้เงิน 400 ล้านไปซื้อ แต่นำเงินไปซื้อแค่ 200 ล้าน โดยเมื่อเปิดขายวันแรก กระแสเงินสดจะไหลเข้ามา จึงนำไปซื้อลอตเตอรี่อีกรอบหนึ่ง
นายพันธ์ธวัช กล่าวว่า เมื่อธุรกิจเติบโต และมีชื่อเสียงแล้ว จึงมียี่ปั๊วให้เครดิต โดยนำสลากมาขายก่อน จ่ายเงินทีหลัง ซึ่งยี่ปั๊วให้เครดิต ก็เป็นวันที่ถือลอตเตอรี่ถึง 3 ล้านใบแล้ว และเป็นคนทำงานจริงจ่ายจริง ไม่เคยเสียเครดิต จึงได้รับความไว้วางใจ
โดยสลากที่ได้มาจำหน่ายนั้น มาจาก 3 ตลาดใหญ่ๆ คือ สนามบินน้ำ, สี่แยกคอกวัว และวังสะพุง จ.เลย พร้อมย้ำอีกว่า ลอตเตอรี่คือ สินค้าที่ซื้อขายกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เหมือนซื้อผักมาขายได้ ก็ซื้อลอตเตอรี่มาขายได้เหมือนกัน อย่างที่เห็นแผงขายตามปั๊มน้ำมัน ก็จะมีเจ้าใหญ่ไปกว้านซื้อ แล้วจ้างคนมานั่งขาย คนที่เดินขายส่วนใหญ่ ก็ได้ 10% สิ่งที่ทำคือ ระบบเดียวกัน เพียงแต่ทำให้เป็นออนไลน์
การมีสลากในมือในจำนวนถึง 10 ล้านใบ(ในปีนี้) ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผู้ได้โควตาลอตเตอรี่นั้น บางคนไม่เดินขาย แต่มีการขายแบบยกเล่ม โดยมีทั้งมาส่งสลากให้เอง และทางบริษัทไปรับ
นายพันธ์ธวัช ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการจ่ายภาษีว่า สำหรับการจ่ายภาษีนั้น ในปี 2563 ไม่นับ เนื่องจากเปิดบริษัทช่วงสิ้นปีแล้ว ส่วนปี 2564 ได้ชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว 2 ล้านกว่าบาท รายได้หมดไปกับการพัฒนา จึงเหลือกำไรน้อยมาก และชำระภาษีน้อยมาก
ซึ่งกรมสรรพากร ได้เรียกเข้าไปชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 กรณีภาษีปี 2564 โดยจะนำเอกสารเข้าชี้แจงอีกครั้ง ในวันที่ 16 ม.ค.2566
นายพันธ์ธวัช ยืนยันว่า เสียภาษีนิติบุคคล ในปี 2564 ตามปกติ และได้ดำเนินการเสีย VAT ย้อนหลังจำนวน 159 ล้านบาท และต่อจากนั้น ได้มีการเสีย VAT ประมาณ 30 ล้านบาท ต่อเดือน หลังจากมีความชัดเจนจากศาลว่า การขายลอตเตอรี่ออนไลน์ สามารถจัดเก็บค่าบริการได้ ไม่ถือเป็นการจำหน่ายลอตเตอรี่เกินราคา
ครึ่งปีแรกของปีนี้กองสลากพลังได้ชำระภาษีไปแล้ว 9 ล้านบาท คาดว่า สิ้นปี จะมีกำไรสุทธิกว่า 200 ล้านบาท จากรายได้ 18,000 ล้านบาท และเตรียมจ่ายภาษี ประมาณ 80-90 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องรอดูปิดงบสิ้นปีอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า ตั้งใจดำเนินธุรกิจโดยไม่มีการเลี่ยงภาษี
นอท อธิบายถึงรายนามผู้ถือหุ้น ในบริษัท เซเว่นไอเดีย จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่กองสลากพลัส ว่า เป็นของเขา 94% ส่วนอีก 3 รายชื่อ ที่ปรากฏเป็นผู้ถือหุ้นนั้นล้วนเป็นทีมงานในบริษัท ที่แบ่งให้แบบไม่ได้มีตัวเงิน โดยจตุภัทร บุญสุวรรณ์ คือ โปรแกรมเมอร์ ที่ร่วมก่อตั้งกันมา , นาย ชัชวงศ์ ธรรมราภา คือ น้องอีกคน ที่ร่วมต่อสู้กันมา และ นาย ศุภชัย ทิพย์สิทธิ์ ทนายความ
ส่วนกรณี สุรชัช คล้ายคลึง (ไอซ์) ที่เคยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นนั้น เป็นน้องที่ได้รู้จักกันในหลักสูตรเรียนเรื่องการตลาดหลักสูตรหนึ่ง แล้วเขาอยากมาทำงานด้วย อยากมาศึกษา แต่ช่วงนั้นไม่มีเงิน จึงชักชวนให้มาร่วมลงทุน จำนวน 2 ล้านบาท จึงได้แบ่งหุ้นให้ไป
แต่เมื่อเป็นข่าว ทางครอบครัวของน้องไอซ์ เกิดความไม่สบายใจ เราก็เลยเอาเขาออกไป พร้อมระบุว่า รู้จัก และเคารพนับถือกันกับพี่แจ้ (พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ) แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไร