ยื่นภาษีปี 65 เริ่มแล้ว! ใช้อะไร "ลดหย่อน" ได้บ้าง เช็กที่นี่

ยื่นภาษีปี 65 เริ่มแล้ว! ใช้อะไร "ลดหย่อน" ได้บ้าง เช็กที่นี่

ฤดูกาล "ยื่นภาษีปี 65" เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ก่อนที่จะยื่นภาษี คุณรู้หรือไม่ว่า คำนวณรายได้ตลอดทั้งปีอย่างไร และสามารถนำอะไรมา "ลดหย่อน" ได้บ้าง และลดหย่อนได้เท่าไร ไปหาคำตอบพร้อมกัน

ได้เวลาที่ผู้มีรายได้ในนามบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระอย่างพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีประจำปี 2565 กันแล้ว!!!

โดยเราสามารถยื่นภาษีได้ด้วยตนเองแบบกระดาษได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566

แต่ก่อนที่จะ "ยื่นภาษี" คุณรู้หรือไม่ว่า ภาษีประจำปี 65 นี้ คุณมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่าไร และนอกจากรายได้พึงประเมินตามมาตราต่างๆ แยกตามประเภทรายได้ของตนเอง ที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังสามารถนำอะไรมาลดหย่อนได้อีกบ้าง และลดหย่อนได้เท่าไร ไปหาคำตอบพร้อมกัน

 

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

ค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้ สามารถนำค่าลดหย่อนส่วนตัวมาหักลดหย่อนได้เลย 60,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนอื่นๆ เกี่ยวกับครอบครัว หากเข้าเงื่อนไขก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท

2. คู่สมรส 60,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หรือยื่นแบบฯ รวมกัน

3. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรหักสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 3.1 ต้องมีใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 65
  • 3.2 สามีใช้สิทธินี้ได้ หากภรรยาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ยื่นแบบฯ รวมกัน

4. ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 4.1 ต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย
  • 4.2 บุตรบุญธรรมใช้ได้ไม่เกิน 3 คน
  • 4.3 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
  • 4.4 ในกรณีที่บุตรอายุ 21-25 ปี ต้องกำลังศึกษาในระดับชั้น ปวส.ขึ้นไป
  • 4.5 บุตรมีเงินเดือนในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท

5. บุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ลดหย่อนได้ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 5.1 เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561
  • 5.2 บุตรอายุไม่เกิน 20 ปี
  • 5.3 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป (คนละ) 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน รวม 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • 6.1 บิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • 6.2 มีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท
  • 6.3 บัตรสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียว

7. อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท/คน โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 7.1 ผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ
  • 7.2 ผู้พิการมีเงินได้ในปี 2565 ไม่เกิน 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุน

ค่าลดหย่อนในกลุ่มประกันและการลงทุน ผู้มีรายได้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่ได้ทำประกันไว้ และรายจ่ายที่นำไปลงทุนกับหน่วยงานต่างๆ รวบรวมนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

1. เงินสมทบประกันสังคม แบ่งตามประเภทเงินสมทบคือ

  • 1.1 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดหย่อนได้สูงสุด 6,300 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) เนื่องจากมีการปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในเดือน พ.ค.-ก.ค. และเดือน ต.ค.-ธ.ค. 65
  • 1.2 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดหย่อนได้สูงสุด 3,585 บาท เนื่องจากมีการปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในเดือน พ.ค.-ก.ค. และเดือน ต.ค.-ธ.ค. 65
  • 1.3 ผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 644-2,760 บาท เนื่องจากมีการปรับลดเงินสมทบตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 65

2. ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 2.1 มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • 2.2 มีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย
  • 2.3 เมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

3. ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

4. ประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • 4.1 บิดา-มารดามีเงินได้ในปี 2565 ไม่เกิน 30,000 บาท
  • 4.2 บุตรบุญธรรมใช้สิทธิ์ไม่ได้
  • 4.3 บุตรหลายคนหารเฉลี่ยกันได้

5. ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  • 5.1 สามี-ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส
  • 5.2 ต้องมีสถานะเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปี

6. ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

7. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 13,200 บาท

10. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินที่ซื้อทั้งหมดในข้อ 6-10 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

 

  • ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาค

ค่าลดหย่อนในกลุ่ม "บริจาค" กับบางหน่วยงาน สามารถนำมาลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า บางหน่วยงานที่รับบริจาคลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ซึ่งประกอบด้วยดังนี้

1. บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ

  • 1.1 ต้องเป็นสถานศึกษาที่ ศธ. กำหนด
  • 1.2 ต้องเป็นสถานพยาบาลของราชการ
  • 1.3 ต้องเป็นหน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
  • 1.4 บริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น

2. บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว

3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท

4. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง และรวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว

 

  • กลุ่มพิเศษ (จากมาตรการรัฐ)

1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงสุด 100,000 บาท

2. โครงการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จด VAT และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ และซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด

 

  • สามารถยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง

ผู้มีรายได้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 (ผู้มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว) และแบบ ภ.ง.ด.90 (ผู้มีรายได้อื่นๆ ที่นอกเหนือจากเงินเดือน) ซึ่งสามารถวางแผนภาษีบุคคลธรรมดาได้ที่นี่

โดยยื่นภาษีได้ด้วยตนเองแบบกระดาษได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 ผ่าน เว็บไซต์กรมสรรพากร

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่