‘เงินบาท’ เปิดตลาด แข็งค่าที่ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ จากดอลลาร์อ่อนค่า
“กรุงไทย” ชี้เงินบาทกลับมาแข็งค่า รับอานิสงส์จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แต่ตลาดปิดรับความเสี่ยง อาจทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้ มองกรอบวันนี้ 32.75-33.15 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ม.ค.) ที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ32.75-33.15 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินนั้นยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอยู่ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง (โดยรวมยังเป็นการเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบ) นอกจากนี้ เรายังคงเห็นการทยอยปิดสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง (ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสุทธิบอนด์ระยะสั้น วันละไม่น้อยกว่า 6 พันล้านบาทโดยเฉลี่ย)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์และเพิ่มสถานะ Short USDTHB ขณะเดียวกันเรามองว่า แนวรับของเงินบาทก็ยังคงอยู่ในโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงทิศทางค่าเงินบาท อาทิ ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น อาจจะด้วยรายงานผลประกอบการที่สุดท้ายออกมาดีกว่าคาด หรือ ตลาดเลิกกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นต้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.76% หลังจากที่รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 190,000 ราย และ 1,647,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากตลาดแรงงานสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งอยู่ นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาทิ Susan Collins มองว่าเฟดอาจปรับดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับสูงกว่า 5% ได้ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00%)
ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงแรง -1.55% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประธาน ECB รวมถึงเจ้าหน้าที่ ECB ท่านอื่นๆ ต่างก็ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าECB จะมั่นใจว่าสามารถจัดการปัญหาเงินเฟ้อสูงได้สำเร็จ ความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง อาทิ Adyen -6.5%, ASML -3.8%, Hermes -2.9%
ตลาดค่าเงิน แม้ตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 102 จุด ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกที่จะเข้าไปถือสินทรัพย์อื่นแทนการถือเงินดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงนี้ เงินดอลลาร์อาจเผชิญปัจจัยกดดันจากปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling) ซึ่งสภาคองเกรสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ได้ เพิ่มความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรปและภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ได้แย่มากตามที่ตลาดเคยประเมินไว้ ก็ยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนเงินยูโรอนึ่ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้ส่งผลให้ ราคาทองคำ(สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านแถว 1,930-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของประธาน ECB (Christine Lagarde) รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ ECB ท่านอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดเช่นกัน
และนอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดการเงินได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า รายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงให้ภาพแนวโน้มผลประกอบการที่ไม่สดใสนักหรือผลประกอบการล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอยู่