SCB CIO คาดเงินบาทสิ้นปี แตะ 33 - 34 บาทต่อดอลลาร์ แนะป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

SCB CIO คาดเงินบาทสิ้นปี แตะ 33 - 34 บาทต่อดอลลาร์  แนะป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

SCB CIO มองค่าเงินบาท สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 33 - 34 บาทต่อดอลลาร์ ย้ำลงทุนต่างประเทศ ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุม 3 ครั้งของปีนี้ หลังจากนั้นจะค้างดอกเบี้ยกรอบบนที่ 5.25% ทั้งปี และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกปี 2567

นายกำพล  อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO)    ธนาคารไทยพาณิชย์  จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า SCB CIO ได้ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2566 เป็น 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมประมาณการไว้ที่ 34 - 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เนื่องจาก มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนจาก US Dollar index จะอ่อนค่าลงตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าลงของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกอบกับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย 

ขณะที่การเกินดุลการค้าแม้จะชะลอตัวลงตามมูลค่าการส่งออก ในภายหน้ามูลค่าการนำเข้าจะมีแนวโน้มที่ชะลอลง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าเชื้อเพลิง  คิดเป็น 42% และ 20% ของมูลค่านำเข้ารวมตามลำดับ  และจะเป็นตัวปรับที่ทำให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลได้    

โดย SCB CIO มองว่า หากผู้ลงทุนมีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ   ขอแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน  สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ และสัญญาณของธนาคารกลางหลักๆ นั้น  เริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศชะลอลงแล้ว ตามราคาสินค้า และพลังงาน ส่วนเงินเฟ้อภาคบริการยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้จะชะลอตัวลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง 

ด้าน ตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิตในสหรัฐ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งแต่เริ่มตึงตัวน้อยลง และค่าจ้างเริ่มมีสัญญาณชะลอลง ทำให้ความกังวลด้านการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น จึงมีมุมมองว่า ธนาคารกลางหลักส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าลง แต่ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และจะค้างดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง โดยในส่วนของ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุม 3 ครั้งแรกของปี 2566 (ก.พ., มี.ค. และพ.ค.) จากนั้นจะค้างดอกเบี้ยกรอบบนไว้ที่ 5.25% ตลอดทั้งปี และมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567


นายกำพล กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเรื่องการเปิดเมือง และเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาดไว้ และนโยบายเศรษฐกิจจีนที่ยังผ่อนคลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการค้า การลงทุน และนักท่องเที่ยวจากจีนด้วย  เช่น ฮ่องกง ยุโรป เกาหลีใต้ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น SCB CIO มองว่า จากความกังวลในประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจ บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง เรายังคงแนะนำลงทุนสินทรัพย์คุณภาพสูงเพื่อสร้างผลตอบแทนจากกระแสเงิน (Yield) โดยเฉพาะพันธบัตร และหุ้นกู้คุณภาพสูง และแม้โดยรวมจะยังคงมุมมอง Neutral (มุมมองเป็นกลาง) ต่อการลงทุนในหุ้น แต่การเปิดเมือง และเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่เราคาดไว้ และนโยบายเศรษฐกิจที่ยังผ่อนคลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในระยะข้างหน้า รวมถึงมูลค่าของดัชนี CSI300 และ MSCI China ที่ยังน่าสนใจ จึงมีมุมมอง Positive (มีมุมมองเป็นบวก) กับตลาดหุ้นจีน A-Shares จากแรงหนุนการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค 

นอกจากนี้ยังปรับมุมมอง H-shares เป็น Slightly Positive (มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อย) โดยความเสี่ยงเรื่องการถอดบริษัทจดทะเบียนจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ (ADRs Delisting) ลดลงมาก ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบบนกลุ่มแพลตฟอร์มลดลง แต่ตลาดยังมีปัจจัยเสี่ยง และอาจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีน โดยเฉพาะจากประเด็นการกีดกันด้านเทคโนโลยีอยู่ 

ขณะเดียวกันยัง คงมีมุมมอง Slightly positive ต่อตลาดหุ้นไทย โดยมองว่า ไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจะได้อานิสงส์ จากการเปิดเมือง และเปิดประเทศของจีนผ่านการท่องเที่ยว และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อมองไประยะข้างหน้า จากแรงสนับสนุนของภาคท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดี จะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์