ค่าธรรมเนียมกองทุน ยิ่งถูกยิ่งดีกว่า?
สัปดาห์นี้พักจากเรื่องของประเด็นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน มาเป็นเรื่องของการลงทุนโดยทั่วๆ ไปกันบ้างครับ โดยเรื่องของการเลือกกองทุนและแนวคิดต่างๆ นั้นก็เป็นส่วนสำคัญสำหรับการลงทุนและการบริหารพอร์ตฟอลิโอเช่นกันครับ
ปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกกองทุนนั้นมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ นโยบายการลงทุน นโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความสามารถของผู้จัดการกองทุน ความน่าเชื่อถือ การบริหารความเสี่ยง ผลการดำเนินงานย้อนหลัง และเรื่องของค่าธรรมเนียมต่างๆ
โดยในส่วนของ ค่าธรรมเนียมจะมีค่าธรรมเนียมที่สำคัญๆ ได้แก่ (1) ค่าธรรมเนียมการขาย หรือ Front-end Fee (2) ค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือ Management Fee และ (3) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ และค่าธรรมเนียมนายทะเบียน โดยค่าธรรมเนียมหลักๆ จะเป็นสองส่วนแรก ซึ่งโดยทั่วๆ ไป ส่วนแรกจะเป็นของผู้ขายและส่วนที่สองจะเป็นของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
เรื่องของค่าธรรมเนียมนั้นนับเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของค่าธรรมเนียมการจัดการที่เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี ทำให้เมื่อเราลงทุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการลงทุน ต่างกับค่าธรรมเนียมการขายที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อนักลงทุนซื้อกองทุนเป็นรายครั้งไป โดยทั่วๆไปกองทุนไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด หรือ ลงทุนในสินทรัพย์ใด ก็จะมาพร้อมกับค่าธรรมเนียมการจัดการเสมอ โดยมีอัตราที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสินทรัพย์ และแต่ละลักษณะการจัดการต่างๆ เช่น Passive หรือ Active
ในกลุ่ม Passive Fund หรือกองทุนที่เน้นให้ผลตอบแทนตามดัชนี โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวม Exchange Traded Fund (ETFs) ต่างๆ ก็มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่แตกต่างกันไป ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญ โดยค่าธรรมเนียมการจัดการก็คือราคาของกองทุน และบ่อยครั้งกองทุนเหล่านี้มักจะแข่งขันกันที่ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า ในขณะที่กองทุนในกลุ่ม Active Fund รวมถึงกลุ่มกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) นั้นมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่เพิ่มขึ้นมากกว่า Passive Fund ซึ่งมาพร้อมกับสิ่งที่คาดหวังคือผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ที่ชนะดัชนีอ้างอิง (Benchmark)
ในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นกองทุนในลักษณะใดก็ตาม ค่าธรรมเนียมที่ถูกไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพท์ของการลงทุนที่ดีกว่าเสมอไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้นทุนด้านการจัดการจะรวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลลากร ทั้งผู้จัดการกองทุน บริหารความเสี่ยง และอื่นๆ รวมถึงต้นทุนด้านระบบต่างๆ หากต้นทุนในส่วนนี้ต่ำจนเกินไป ก็อาจจะนำมาซึ่งการบริหารจัดการที่ไม่ดี ไม่ครบถ้วน และละเลยบางส่วนของการบริหารงานไป ทำให้ในท้ายที่สุดก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน
ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฏษฏีที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างดีเรื่องนึง คือ เรื่องของ The Market for “Lemons” โดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล George A. Akerlof ซึ่งคำว่า Lemons ในที่นี่หมายถึงรถมือสองที่คุณภาพไม่ดี โดยทฏษฏีดังกล่าวยกเรื่องของตลาดรถมือสองมาเป็นตัวอย่าง โดยหากผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพรถได้ด้วยตนเอง และไม่รู้ว่ารถที่ตนเองจะซื้อนั้นมีคุณภาพดีหรือไม่ และยึดเอาราคาเป็นหลักเพียงอย่างเดียว
รวมถึงอาจจะมองหาราคาตลาดรถมือสองที่ราคาถูกที่สุดเป็นหลัก สุดท้ายในตลาดนั้นก็จะเต็มไปด้วยรถมือสองที่คุณภาพไม่ดี เนื่องจากผู้ขายที่รู้จักรถของตนเองดีก็จะไม่นำรถมาขายในตลาดที่ราคาต่ำ ทำให้ปริมาณรถที่ไม่ดีในตลาดมีมากกว่ารถที่ดี ยิ่งราคาต่ำสัดส่วนของรถไม่ดีต่อรถดีก็จะยิ่งมากขึ้น และสุดท้ายผู้ซื้อก็จะได้รถมือสองที่ไม่ดีไปนั่นเอง ปัญหาดังกล่าวเกิดจากเรื่องของข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
โดยผู้ขายจะมีข้อมูลมากกว่าผู้ซื้อ ทำให้การตั้งราคาที่ไม่เหมาะสมอาจนำมาสู่เรื่องของสิ่งที่เราเรียกว่า “Adverse Selection” นั่นเอง ในภาวะตลาดใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขในลักษณะนี้ การตั้งราคาต่ำอาจจะไม่ได้นำมาสู่สิ่งที่ดีขึ้นเสมอไป แตกต่างจากตลาดที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลใกล้เคียงกับทำให้สามารถเลือกราคาของสินค้าที่เหมาะสมได้ โดยอุตสาหกรรมการลงทุนและการบริหารเงินก็อาจจะเข้าข่ายในส่วนแรก ที่ผู้ขายมีข้อมูลมากกว่าในขณะที่ภาวะตลาดก็อาจจะได้ทั้งขึ้นและลงสำหรับผู้ลงทุนนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม ค่าธรรมเนียมที่แพงก็ไม่ได้การันตีผลลัพท์ของการลงทุนที่ดีกว่าเสมอไป เนื่องจากทำให้ต้นทุนในระยะยาวของการลงทุนสูงขึ้นอย่างมาก แล้วในฐานะนักลงทุนเราควรพิจารณาประเด็นเรื่องของค่าธรรมเนียมในลักษณะใดได้บ้าง
แนวทางในการพิจารณาในส่วนนี้ควรจะพิจารณาค่าธรรมเนียมต่างๆ ควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่เพียงถูกหรือแพง โดยเฉพาะผลการบริหารงานในอดีต และวิธีการบริหารกองทุน แม้จะไม่สามารถการันตีอนาคตได้ แต่ก็เป็นตัวชี้นำที่มีน้ำหนักได้ โดยค่าธรรมเนียมที่แพงต้องมาพร้อมกับความสม่ำเสมอของการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มด้วย อาจเทียบกับกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกันเป็นหลัก และค่าธรรมเนียมควรเป็นปัจจัยหนึ่งของการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช่ทุกอย่างของการตัดสินใจ
สุดท้ายนี้ ไม่ได้หมายความค่าธรรมเนียมต่างๆ จะไม่ใช่เรื่องสำคัญในการพิจารณาการลงทุน ในทางตรงกันข้ามต้นทุนในส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เพียงแต่การพิจารณานั้นจะต้องมีมากกว่า “ยิ่งถูกยิ่งดี” เพียงอย่างเดียว กองทุนหรือการลงทุนใดๆ ที่มีต้นทุนที่สูง หากมาพร้อมกับผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ดีนั้นก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่า กองทุนที่ไม่มีต้นทุนใดๆ เลย แต่มาพร้อมกับผลตอบแทนที่แย่มากๆ นั่นเอง
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด