เศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เปิดดัชนีจัดอันดับทุจริตโลก ไทย‘คอรัปชั่น’พุ่ง

เศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เปิดดัชนีจัดอันดับทุจริตโลก ไทย‘คอรัปชั่น’พุ่ง

เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิด ดัชนีรับรู้การทุจริตโลกจัดอันดับไทย 101 จาก 180ประเทศ ได้เพียง 36 คะแนนเต็มร้อย สะท้อนภาพลักษณ์โกงยังเกาะกินประเทศไทย คอรัปชั่นพุ่ง

         ผศ. ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterpriseกล่าววถึงผลการสำรวจดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ปี 2022 ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) จัดทำขึ้นว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 ได้ 36 คะแนน แม้อันดับจะขยับขึ้นมาจาก 110 เมื่อปี 2021 ที่ได้ 35 คะแนน แต่การขยับขึ้นมาเพียง 1 คะแนนแทบไม่มีนัยสำคัญ เปรียบเสมือนเป็นนักศึกษาที่ยังสอบตกจากคะแนนเต็มร้อย คะแนนสูงสุดที่ประเทศไทยเคยได้คือ 38 คะแนนและตกลงมาเรื่อย ๆ

       สะท้อนว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาคอร์รัปชันที่รุนแรงมาก เมื่อลองสำรวจประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่เคยมีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันรุนแรงเช่นกัน พบว่าติดอยู่อันดับที่ 77 ของโลก ได้ 42 คะแนน นักลงทุนต่างชาติอาจมองได้ว่าการเข้ามาลงทุนในเวียดนามจ่ายสินบนน้อยกว่าประเทศไทย ต้นทุนทางธุรกิจก็ต่ำลง แน่นอนว่าย่อมกระทบกับศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

เชื้อโรคตายด้วยแสงสว่าง

       สำหรับดัชนี CPI เป็นดัชนีที่วัดด้านภาพลักษณ์เท่านั้น อาจไม่สะท้อนความจริงเสมอไป แต่ก็เป็นไปได้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยมีทั้งที่ดีหรือแย่กว่าภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองเห็น หากเปรียบคอร์รัปชันเป็นเหมือนเชื้อโรค สิ่งที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้คือแสงสว่างและความสะอาดโปร่งใส ประเทศไทยยังขาดสิ่งนี้ทำให้ผู้ที่หลบในมุมมืดโกงกินได้ต่อเนื่อง แถมยังแพร่กระจายไปในทุกวงการทั้งภาครัฐและเอกชน 

       การจะให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไล่จับทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่คำถามคือ เราได้ให้ข้อมูลหรือเครื่องมือกับสังคมเพียงพอหรือยัง เมื่อไม่มีข้อมูลก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้

     “บรรยง พงษ์พานิช" เคยพูดถึงภาวะได้กระจุก-เสียกระจาย  เมื่อคนเห็นคอร์รัปชันแล้วไม่อยากทำอะไรเพราะค่าเหนื่อยเยอะเกินไป

      เช่น เห็นนักการเมืองโกงไป 67 ล้านบาทก็เท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศโดนโกงคนละ 1 บาท แค่ค่านั่งแท็กซี่ไปร้องเรียนป.ป.ช.ก็ไม่คุ้มแล้ว แถมอาจโดนข่มขู่อีก หน้าที่ของรัฐคือการลดต้นทุนและสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน”

ข้อมูลอดีตคือทางออกอนาคต

     โลกของอินเตอร์เน็ตทำให้คนธรรมดาสามารถพลิกปัญหาใต้พรมขึ้นมาได้ เราจึงเห็นการเปิดเผยความจริงสู่สังคมโดยไม่ต้องพึ่งพาฮีโร่คนใดคนหนึ่ง อาทิ กรณีเสาไฟฟ้ากินรี ตำรวจรับสินบน หรือสถานีรถไฟราคาแพง เป็นต้น

       ในช่วงที่ผ่านมา ทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิสาหกิจเพื่อสังคม HAND ได้ร่วมสนับสนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในการพัฒนาเว็บไซต์ www.actai.co เป็นการรวบรวมฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลัง 5 ปีกว่า 27 ล้านชุดข้อมูลให้ง่ายต่อการค้นหามากยิ่งขึ้น สามารถค้นหาจากคีย์เวิร์ดหรือโลเคชั่น เมื่อประชาชนได้เห็นรายละเอียดโครงการและจำนวนเงิน ย่อมช่วยกันประเมินได้ว่าโครงการนั้นจัดจ้างอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่

      หรือสามารถแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชันได้โดยตรงที่ไลน์แชทบอท Corruption Watch พร้อมหลักฐานแนบโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน 

       “มันมีเส้นบาง ๆ ระหว่างการคอร์รัปชันกับการใช้งบประมาณแบบไม่มีประสิทธิภาพ คอร์รัปชันคือการใช้อำนาจโดยมิชอบ เอาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือพวกพ้อง บางกรณีอาจเป็นการใช้เงินตามระเบียบ แต่ใช้อย่างไม่จำเป็นหรือแฝงเหตุผลทางการเมือง เช่น ได้ฐานเสียง คำตอบเดิมของการแก้ไขปัญหาทั้งคู่ไปพร้อมกันคือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม”

       ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ภาคประชาสังคมนำโดยทีม PunchUp ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อสังคมได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ติดตามคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองที่มีชื่อว่า Promise Tracker โดยได้รวบรวมนโยบายและคำสัญญาช่วงหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองปี 2562 นำมาติดตามผลว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ พบว่าคำสัญญาจำนวนมากตกอยู่ในเกณฑ์ “ไม่พบความเคลื่อนไหว” 

       มีบางส่วน “กำลังดำเนินการ” แต่สำหรับเกณฑ์ “ทำสำเร็จ” มีสัดส่วนน้อยมาก ดังนั้น เมื่อประชาชนมีข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ ย่อมได้คำตอบว่าควรตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดเข้ามาดูแลประเทศ ในอนาคตจะขยายผลเป็น Open Source ให้ประชาชนถ่ายรูปป้ายหาเสียงและช่วยกันเติมข้อมูล เป็นหลักฐานทวงถามสัญญานักการเมือง