“อาคม”ยันเดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้นเผยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจาฯ
“อาคม”เผย รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีขายหุ้น เผยกฎหมายยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวในตลาดหลักทรัพย์ว่าจะมีการเลื่อนหรือยกเลิกการเก็บภาษีขายหุ้น ทำให้หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ ปรับสูงขึ้นโดยยืนยันว่า ไม่มีการเลื่อนอย่างแน่นอน โดยยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อไหร่
“ไม่เลื่อน ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาทั้งหมด และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะประกาศเมื่อไหร่”
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจร่างกฎหมายภาษีขายหุ้น เสร็จแล้ว รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ตามแผนเดินของกระทรวงการคลัง ต้องการให้ภาษีขายหุ้น ที่จะจัดเก็บในอัตรา 0.11% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย (รวมภาษีท้องถิ่นไปแล้ว) สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ เมื่อมีการจัดภาษีตัวนี้ จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ต่อปีประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายภาษีฉบับนี้ จะจัดเก็บในอัตราครึ่งหนึ่งของที่กฎหมายกำหนดคือ จะจัดเก็บในอัตรา 0.055 % (รวมภาษีท้องถิ่นไปแล้ว) เพื่อให้เวลาปรับตัวสำหรับนักลงทุน และเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเวลาปรับตัว เมื่อกฎหมายลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะให้เวลาปรับตัว 3 เดือน โดยให้มีผลในวันที่ 1 ของเดือนที่สี่
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งความจริงภาษีขายหุ้น มีกำหนดอยู่ในประมวลรัษฎากร ของกรมสรรพากรอยู่แล้วแต่มีการยกเว้นไม่ได้นำมาใช้ เป็นเวลานานถึง 40 ปี เพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์เติบโตแข็งแรงขึ้น จำเป็นต้องยกเลิก การยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ระหว่างคนที่มีรายได้จากการทำงานตามปกติ ที่มีภาระต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับคนที่มีรายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับการยกเว้นเงินได้มาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีฉบับนี้ มีข้อยกเว้น ไม่จัดเก็บภาษีสำหรับกรณีการซื้อขายหุ้นผ่าน Market Maker ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือประกันสังคม จะได้รับการยกเว้นภาษีตัวนี้ เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์
สำหรับการวิธีการจัดเก็บภาษีตัวนี้ กรมสรรพากร จะมอบให้ Broker เป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร เนื่องจาก Broker มีภาระหน้าที่ต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ในส่วนของนักลงทุนที่ถูกหักภาษีตัวนี้ ไม่ต้องนำรายได้จากการขายหุ้นไปรวมคำนวณกับรายได้ของปีนี้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะถือเป็น Final Tax
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์