ประกันสังคม ม.33 ออกจากงานแล้ว ยังใช้สิทธิอะไรได้ อยากรักษาสิทธิ ทำอย่างไร

ประกันสังคม ม.33 ออกจากงานแล้ว ยังใช้สิทธิอะไรได้ อยากรักษาสิทธิ ทำอย่างไร

ผู้ประกันตน ม.33 ในระบบประกันสังคม ต้องรู้! กรณีออกจากงาน ผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ สามารถรักษาสิทธิต่อได้หรือไม่

เชื่อว่าหลายคนมักหลงลืมให้ความสำคัญกับอาการเจ็บป่วยทั้งจากภายในร่างกาย และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้ประกันตน ม.33 จะมีประกันสังคมคอยซัพอร์ตในเรื่องการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอยู่แล้ว

ทว่าเมื่อใดที่คุณลาออกหรือถูกเลิกจ้างจากงานประจำ ย่อมมีผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นผู้ประกัน ม.33 อย่างแน่นอน เพราะลาออกจากงานก็จะเท่ากับว่า การเป็นผู้ปะกันตน ม.33 ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว หากไม่ได้เข้าทำงานในบริษัทใหม่

แต่ประกันสังคมก็ไม่ได้ใจร้ายตัดสิทธิกันแบบไม่มีเยื่อใย ผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิได้อยู่ โดยจะใช้สิทธิอะไรได้บ้าง และใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ สามารถรักษาสิทธิต่อได้หรือไม่ รวมถึงต้องทำอย่างไร ไปเคาะสิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้รับพร้อมกัน

  • ใช้สิทธิประกันสังคม 7 กรณี ได้ต่ออีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ

​สำหรับผู้ประกันตน ม.33 ที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างจากงานประจำ จะยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน ครบทั้ง 7 กรณี โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ดังนี้

  1. การได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ
  2. ทุพพลภาพ 
  3. เสียชีวิต
  4. คลอดบุตร
  5. สงเคราะห์บุตร
  6. ชราภาพ
  7. ว่างงาน​

​และหากภายใน 6 เดือนนี้ ผู้ประกันตนได้เข้าทำงานในบริษัทใหม่ รวมถึงทางบริษัทได้ไปขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้าง  มีการส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมต่อ ก็จะถือว่ายังเป็นผู้ประกันตน ม.33 เช่นเดิม ได้รับสิทธิประกันสังคมต่อโดยอัตโนมัติ​

  • สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

​ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตน ม.33 ยังได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยแบ่งตามกรณีการลาออกดังนี้

​- หากถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

​- หากลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน 

 ​- หากไม่ได้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

​ทั้งนี้ หากเป็นกรณีลาออก สิ้นสุดสัญญา หรือถูกเลิกจ้าง ใน 1 ปีปฏิทินให้นับระยะเวลารับเงินทดแทนไม่เกิน 180 วัน ซึ่งจะต้องลงทะเบียนว่างงานที่กรมการจัดหางาน

  • ออกจากงาน หรือไม่ทำงานประจำแล้ว ยังรักษาสิทธิประกันสังคมได้ด้วย ม.39

​อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หากลาออกจากงานหรือถูกไล่ออก ถ้ายังไม่เกิน 6 เดือน จะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่หากผู้ประกันตนยังไม่คิดจะหางานประจำทำภายใน 6 เดือนนี้ หรือไม่กลับไปทำงานประจำแล้ว แต่ยังต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมอยู่ สามารถทำได้ดังนี้

1.สามารถทำได้โดยการสมัครเข้า ม.39 ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เพื่อรักษาสิทธิ 6 กรณี ดังนี้​

​1.1 ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วย

1.2 ทุพพลภาพ

​1.3 ตาย

​1.4 คลอดบุตร

​1.5 สงเคราะห์บุตร

​1.6 ชราภาพ​

​2.คุณสมบัติของผู้สมัคร ม.39 ประกอบด้วย

​2.1 เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน

​2.2 ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทน กรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

​3.วิธีสมัครมาตรา 39 (ม.39) สามาถยื่นสมัครได้2 วิธี ดังนี้

​3.1 สามารถยื่นสมัคร ม.39 ด้วยตนเองได้ โดยใช้แบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งราชการออกให้พร้อมสำเนา แล้วยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาทั่วประเทศ

​3.2 ยื่นใบสมัครออนไลน์  โดยดาวน์โหลดแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ออนไลน์ จากนั้นกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย พร้อมแนบหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งราชการออกให้ แล้วสมัครออนไลน์ผ่าน E-mail/LINE เก็บหลักฐานการส่งเพื่อตรวจสอบต่อไปโดยอย่าลืมติดตามผลการสมัคร ม.39 เป็นระยะจนกว่าจะสมัครสำเร็จ

​4.ช่องทางการส่งเงินสมทบ ม.39​

​หลังจากสมัคร ม.39 สำเร็จ ให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ผ่านช่องทางต่อไปนี้ 

​- จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่สะดวก

​- จ่างเงินทางธนาณัติหรือจ่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศ

​- จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย

​- จ่ายผ่าน CenPay

​- จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส

​- ให้ธนาคารหักจากบัญชีออมทรัพย์ของผู้ประกันตน แต่วิธีการนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการหักบัญชี

สรุป

สุดท้ายแล้วอาจสรุปได้ว่า ผู้ประกันตน ม.33 ตั้งแต่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างจากงานประจำ ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคม 7 กรณี ได้อีก 6 เดือน แต่ถ้าหากยังหางานประจำใหม่ไม่ได้ หรือไม่ประสงค์ที่จะทำงานประจำต่อ กระทั่งปล่อยไว้จนล่วงเลย 6 เดือน จะถูกตัดสิทธิจากการเป็นผู้ประกันตน ม.33 

​ดังนี้ หากอยากรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ ให้ผู้ประกันตนสมัครเข้า ม.39 ภายใน 6 เดือนตั้งแต่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างจากงานประจำ จะได้สิทธิประกันสังคม 6 กรณี โดยจะต้องส่งเงินสมทบตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ  หากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ม.39ตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ได้ส่งเงินสมทบ

​นอกจากนี้หลังจากสมัคร ม.39 สำเร็จแล้ว หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือนภายในระยะเวลา 12 เดือน จะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน และยังสามารถสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ม.39ได้เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต รวมถึงกลับไปเป็นผู้ประกันตน ม.33 หรือลาออกจากม.39 ก็จะถือว่าสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ม.39 นั่นเอง

----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่