การเงินเพื่อรักษาความรักให้ยืนยาว

การเงินเพื่อรักษาความรักให้ยืนยาว

ดิฉันเคยเขียนเรื่องความรักกับการเงินไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน โดยแนะนำการดูแลการเงินเพื่อให้มีชีวิตรักยืนยาว เพราะชีวิตรักที่กัดก้อนเกลือกิน และหวานชื่นนั้นมีอยู่แต่ในนวนิยายเท่านั้นค่ะ ในความเป็นจริง คู่รักหรือคู่สมรสที่มีปัญหาการเงิน มักจะมีความรักที่กระท่อนกระแท่น

ชีวิตรักจะราบรื่นต้องวางแผนการเงินไว้ให้ดี อยากแนะนำให้วางแผนตั้งแต่เริ่มคิดว่าจะสร้างครอบครัว เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจแนวคิดการเงินของกันและกัน ประเด็นนี้มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะคนที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยภูมิหลังที่แตกต่างกัน มักจะมีแนวคิดเรื่องการใช้จ่าย การออม การลงทุนแตกต่างกัน หากเราทราบแนวคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง จะทำให้เราสามารถปรับตัวและปรับใจเข้าหากันได้ง่ายขึ้น

บางครอบครัวการเงินเป็นเรื่องใหญ่ ต้องยุติธรรม ต้องเท่าเทียม ต้องละเอียด ต้องมีที่มาที่ไป ครอบครัวชาวจีนขนาดใหญ่ที่อยู่กันแบบกงสี มักจะเป็นเช่นนี้ ถ้าคู่ของเรามาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังแบบนี้ ต้องทำใจอย่าหงุดหงิดเวลาเขาถามรายละเอียดเรื่องเงินๆทองๆ หรือมาเล่าเรื่องบางเรื่องที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆในครอบครัว

สำหรับบางครอบครัวจะยึดหลักการ จำนวนเงินไม่สำคัญ หากหลักการถูกต้อง ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ ก็จะพอใจ ถ้าท่านเป็นคนละเอียด ท่านอาจจะอยากทราบรายละเอียดซึ่งคู่ของท่านอาจไม่สามารถตอบได้ ก็ต้องปรับตัว

บางครอบครัวไม่เคยวางแผน ใช้เงินไปเรื่อยๆ หมดก็หาใหม่ ตราบใดที่มีศักยภาพในการหาเงิน ปัญหาก็จะไม่เกิด เมื่อใดที่การหาเงินสะดุด ปัญหาก็จะเกิดขึ้น

วิธีที่ง่ายที่สุดในการปรับเข้าหากัน คือใช้หลักการค่ะ หากสามารถตกลงกันในประเด็นหลักๆแล้ว ใครจะละเอียด ใครจะทราบภาพรวมแบบคร่าวๆ ก็ไม่ต้องไปบังคับฝืนใจ

เมื่อจะใช้หลักการ จำเป็นต้องมีการวางแผน เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสได้หารือกัน วางแผนชีวิตด้วยกัน ทั้งเรื่องชีวิตและเรื่องการเงิน แผนที่จำเป็นต้องวางอย่างยิ่งคือ การจัดสรรงบประมาณ ต้องวางแผนว่า รายเท่าไร จะเก็บออมเท่าไร และจะใช้จ่ายเท่าใด ใช้เป็นค่าอะไรบ้าง จัดสรรให้เข้ากับการใช้ชีวิตของแต่ละคนค่ะ

คู่รักหลายคู่จะเริ่มเก็บเงินด้วยกันตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ด้วยการเปิดบัญชีร่วมกัน หรือซื้อบ้านโดยใช้ชื่อร่วม ซึ่งดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อน หรือยิ่งในยุคนี้ที่ผู้คนหลอกลวงกันมากมาย  ดิฉันแนะนำว่า ข้อผูกพันทางการเงิน น่าจะเกิดขึ้นหลังจากมีข้อผูกพันการอยู่ครองคู่ด้วยกันตามกฎหมายแล้ว หากยังเป็นคู่รักกันอยู่ แยกกันเก็บในชื่อของแต่ละคน โดยเปิดบัญชีใหม่ แต่ให้ทราบว่าเป็นบัญชีที่ตั้งใจเอาไว้ใช้ด้วยกันในยามร่วมชีวิตกันแล้วน่าจะดีกว่า

สาเหตุที่ไม่แนะนำเพราะจะเกิดความยุ่งยากขึ้น หากไม่ได้แต่งงานหรือผูกพันกันตามกฎหมายในภายหลัง และส่วนใหญ่ พอเลิกกันก็ไม่มีฝ่ายใดอยากจะอยู่ในบ้านหรือห้องนั้นอีก เงินฝากก็เหมือนกันค่ะ เวลาจะรวบรวมว่าออมได้เท่าไรแล้ว ก็สามารถจับตัวเลขมาบวกกันได้ โดยเงินยังคงอยู่ในชื่อของแต่ละฝ่าย หากเลิกกัน ก็จะได้ไม่ต้องถอนเงินหรือโอนเงินกันให้ยุ่งยาก

นอกจากนี้ การที่เรายึดหลักการว่าไม่โอนเงินไปใส่บัญชีร่วม หรือบัญชีฝายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษา ยังเป็นการกันไม่ให้คนที่ต้องการมาหลอกลวงเรา สามารถหลอกเอาเงินจากกระเป๋าของเราไปได้โดยง่าย ด้วยคำพูดหวานๆ คำตัดพ้อเพียงไม่กี่คำ

คาถาที่ต้องท่องเอาไว้คือ “เงินที่อยู่ในกระเป๋าเราก็ยังเป็นของเราอยู่” เมื่อออกจากกระเป๋าไปแล้ว ยากที่จะกลับมา

การเลือกทำงานก็มีความสำคัญค่ะ ผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจส่วนตัว หากยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจต้องอยู่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำก่อน เผื่อว่าธุรกิจของอีกฝ่ายหนึ่งเกิดมีอันไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็จะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวอยู่

 ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องมีการประมาณการรายรับและรายจ่าย และไม่ว่าจะจัดสรรอย่างไร จำเป็นต้องจัดสรรเงินออมและเงินลงทุนไว้เสมอ เพื่อความมั่นคงของชีวิตในภายภาคหน้า

ในการลงทุนสำหรับครอบครัว เมื่อเริ่มต้นครอบครัวใหม่ ความสามารถในการรับความเสี่ยงและทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงที่แต่ละฝ่ายคุ้นชินจะไม่เหมือนกัน ต้องค่อยๆปรับค่ะ พออยู่ด้วยกันนานเข้า เงินรวมเป็นกระเป๋าเดียวกัน ทัศนคติเกี่ยวกับความเสี่ยงก็จะคล้ายกันไปโดยปริยาย

ประเด็นที่ต้องระวังหรือใส่ใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเงินของคู่สมรสพอจะสรุปได้ดังนี้

วัยไม่เกิน 30 ปี หรือเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ ควรมุ่งความสำคัญไปในการเก็บออมให้มาก อย่าก่อหนี้สิน เว้นแต่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือเพื่อซื้อรถ ใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะของตน ไม่ต้องอยากมีนี่มีนั่นตามเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนที่ยังโสด ไม่มีภาระ แนะนำให้จัดทำบัญชีรับจ่าย เพื่อให้สามารถบริหารการใช้จ่ายให้ดีขึ้น

วัย 30-40 ปี หรือเริ่มมีสมาชิกเพิ่มในครอบครัว หน้าที่การงานเริ่มเจริญก้าวหน้า วัยนี้จะเป็นวัยที่พบว่ารายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็ว และอาจจะเร็วกว่ารายได้ มีทั้งการจ่ายค่าใช้จ่ายของตนเองและลูก จ่ายผ่อนเงินกู้ซื้อบ้านซื้อรถ มีการเดินทางเพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต อยากลองชิมอาหารรสเลิศ อยากลองนี่ลองนั่น ฯลฯ จึงต้องระวังสภาพคล่องทางการเงิน อย่าให้ขาดสภาพคล่องจนเกิดเดือดร้อน ก่อนผูกพันตนเองกับภาระใดๆ ให้ตรวจสอบกระแสเงินสดของตนเองในแต่ละเดือนก่อน

วัย 40-55 ปี หรือเริ่มอยู่ตัว มีความมั่งคั่งสะสมในระดับหนึ่ง เริ่มมีสภาพคล่องส่วนเกิน วัยนี้จะพบว่า อยากมี “อย่างที่สอง” (หวังว่าไม่ใช่คู่คนที่สองนะคะ) เช่น รถคันที่สอง บ้านหลังที่สอง ฯลฯ แนะนำว่าก่อนซื้อหรือผูกพันตัวเองกับสัญญาใดๆให้ถามตัวเองให้ดีว่า มีแล้วจะได้ประโยชน์ใช้สอยเต็มที่ไหม มีเวลาใช้ประโยชน์ไหม จะดูแลไหวไหม ฯลฯ หากไม่แน่ใจ ขอแนะนำว่า “อย่า” ผูกพันตัวเองเลยค่ะ

วัย 55 ปีขึ้นไป เตรียมตัวเป็นอิสระจากการทำงานประจำ เป็นอิสระจากลูกๆ ท่านจะมีเวลาให้กับคู่สมรสมากขึ้น ถ้าไม่รู้ตัว ก็อาจจะพบว่าใช้เงินซื้อของเกินกว่าความสามารถในการใช้ กลายเป็นภาระ แนะนำให้สำรวจข้าวของที่มีแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนเกษียณแล้ว จะไม่ทันค่ะ หากสำรวจแล้วก็จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทันเวลา