‘เอสซีบี เอกซ์’ลุย Virtual Bank ช่วยกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
“อาทิตย์” เอสซีบี เอกซ์ ยืนยันพร้อมลงสนาม “ธนาคารไร้สาขา” หวังตอบโจทย์กลุ่มเข้าไม่ถึงบริการการเงิน ลดความเหลื่อมล้ำรายได้คนไทย เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่บริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค พร้อมสร้างความแข็งแกร่งผ่าน “ธนาคารไทยพาณิชย์”หนุนกลุ่มเติบโต
การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” หลังปรับโครงสร้างองค์กร และโอนย้ายสินทรัพย์จาก “ธนาคารไทยพาณิชย์” มาสู่ยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” นอกจากจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มมีความ “คล่องตัว” มากขึ้นยังเป็นการนำกลุ่มธุรกิจไปสู่ “โอกาส” ใหม่ๆ อย่าง “ไร้ขีดจำกัด” มากขึ้น
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) กล่าวว่า ทิศทาง “เอสซีบี เอกซ์” ปี 2566 คงเดินไปตามแผนเดิมในเรื่องการขยายตัว หาช่องทางในการเป็น “Financial Technology” รวมถึงมองหาขีดความสามารถใหม่ๆ ให้กลุ่มธุรกิจ
โดย Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ “เอสซีบี เอกซ์” ยืนยัน ในการเดินหน้าเพื่อขอใบอนุญาต หรือ ไลเซนส์ Virtual Bank แน่นอน ภายใต้ เอสซีบี เอกซ์ ซึ่งจะเป็นคนละภาพกับการมุ่งไปสู่ดิจิทัลของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งการทำ Virtual Bank อาจเห็นการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคตด้วย
สำหรับจุดมุ่งหมาย หรือ โจทย์การทำ Virtual Bank ที่เป็นหนึ่ง pain point ของ เอสซีบี เอกซ์ คือ การเข้าไปตอบโจทย์ด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (income inequality) หรือ ไปแก้ความไม่เท่าเทียม ดังนั้น เป้าหมายเอสซีบี เอกซ์ ก็เพื่อไปดูแล Unbanked ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เหล่านี้คือความตั้งใจของ “เอสซีบี เอกซ์”
การมาของ Virtual bank ก็เพื่อเข้าไปดูแลกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน แต่ดิจิทัลแบงก์ถูกสร้างขึ้นมาดูแลเซกต์เมนท์ของแบงก์ ซึ่งคนละบทบาทและพันธกิจ
ยกตัวอย่างรูปแบบ Virtual Bank ในต่างประเทศ อย่าง อินโดนีเซียเป้าหมายคือ ต้องทำให้เกิด Financial Inclusion จึงต้องมีการกำหนด KPI ชัดเจน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยได้จำนวนมากได้จริง ซึ่งการช่วยคนจำนวนมากได้ แปลว่า เพดานการปล่อยกู้ ต้องไม่ถูกปิด เพราะหากปิด ท้ายที่สุด Virtual Bank ก็อาจเลือกปล่อยกู้
อย่างไรก็ตาม การมอง Virtual Bank หลายคน ยังเข้าใจผิด ว่าจะเข้ามาดีสรับชันธุรกิจของแบงก์ แต่จริงๆแล้ว แบงก์ชาติทำเรื่องนี้ เพื่อให้เกิด Financial Inclusion เพราะหากดูระบบเงินฝากของประเทศวันนี้อยู่ที่ 15-16ล้านล้านบัญชี และสินเชื่อมีอยู่ราว 14-15ล้านล้านบัญชี พวกนี้คือลูกค้า ที่เป็นลูกค้าแบงก์ เป็นลูกค้าที่มีรายได้สูงระดับหนึ่ง แต่มีจำนวนอีกเยอะมาก หลายสิบล้านคนที่อยู่กับสินเชื่อนอกระบบ พวกที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการเงิน
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการออกไลเซนส์ Virtual Bank ไม่ได้ต้องการให้มาทำแบงก์เหมือนเดิม แต่ต้องการให้ช่วยเหลือกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ดังนั้นหากเอาไลเซนส์นี้มาทำก็อาจกระทบแบงก์
“วัตถุประสงค์ของการตั้ง Virtual Bank ก็เพื่อต้องการเพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงทางการเงินให้กับคนไทยมากขึ้น หรือ Financial Inclusion ซึ่งปัจจุบันมีหลายสิบล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ไม่ใช่มาตอบโจทย์ลูกค้าเดิมของธนาคาร”
สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ “เอสซีบี เอกซ์” ปี 2566 ยังเป็นช่วงของการลงทุน เพื่อมองหาโอกาสในการเพิ่มความสามารถ ในด้านเทคโนโลยีไปในภูมิภาค เหล่านี้ คือ ความก้าวหน้าเพื่อให้สอดคล้องไปกับทิศทางของ “เทคโนโลยี” เหล่านี้ เอสซีบี เอกซ์ จะทดลองอยู่นอกแบงก์ โดยเอสซีบี เอกซ์ ก็จะทำหน้าที่ดูแลว่าการทดลอง และทำให้บริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้ว พัฒนาเติบโตและแข็งแรงต่อไป
และเชื่อว่าวันนี้หลายสิบบริษัทที่อยู่ภายใต้ เอสซีบี เอกซ์ มีความพร้อมในการทำธุรกิจ และจะเห็นความคืบหน้าความก้าวหน้าจากสิ่งที่ เอสซีบี เอกซ์ได้ลงทุนไปมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือทิศทางของ เอสซีบี เอกซ์ ที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจแบงก์ให้เติบโต และต้องทำให้สิ่งที่ลงทุนไว้ ให้เติบโต เพื่อรับโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ
การมุ่งสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค” หรือเป็น Regional FinTech Group เหล่านี้คือ วิชั่นเอสซีบี เอกซ์ที่ต้องทำเพราะประเทศไทยไม่ได้เติบโตมาก
ดังนั้น ควรมองหาโอกาสโดยเฉพาะขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามา เพราะขีดความสามารถเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่การจะไปสู่ภูมิภาคสู่ต่างประเทศ เอสซีบี เอกซ์ คงไม่ผลีผลามต้องค่อยๆ ดู และพิจารณาอย่างรอบคอบ
ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแรง การมุ่งเน้นให้ธนาคาร มั่นคง สามารถที่จะเป็น cash cow ที่สร้างการเติบโตให้กลุ่มธุรกิจเอสซีบี เอกซ์ และดูแลเศรษฐกิจโดยรวมเป็นหลักให้มีความแข็งแกร่ง เหล่านี้คือบทบาทหลักของธนาคาร