อาณาจักร ‘VinGroup’ เจ้าสัวพันล้านดอลล์คนแรกของเวียดนาม ผูกขาดหรือเสรี?

อาณาจักร ‘VinGroup’ เจ้าสัวพันล้านดอลล์คนแรกของเวียดนาม ผูกขาดหรือเสรี?

อาณาจักร ‘VinGroup’ ของ ‘ฝ่าม เญิ้ตเวือง’ เศรษฐีพันล้านดอลล์คนแรกของเวียดนาม ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลาย ซึ่งบริษัทของเขามีสินทรัพย์ทั้งหมด 5% ของจีดีพีเวียดนาม กูรูมองว่าธุรกิจลักษณะนี้เป็น ‘Growth Engine’ สำคัญ ทว่าอีกฝั่งชี้ว่าคล้าย ‘Chaebol’ ­ของเกาหลีใต้

Key Points

  • เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตร้อนแรงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
  • นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองว่าโมเดลธุรกิจของ VinGroup คล้ายกับโมเดล ‘Chaebol’ ­ของเกาหลีใต้ ที่ผูกขาดการแข่งขันท่ามกลางการเอื้อประโยชน์จากรัฐบาล
  • แต่นักวิเคราะห์บางสำนักก็มองว่าโมเดลธุรกิจดังกล่าวจำเป็นและสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economy) โตได้มากขึ้น ตามแผนการเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045
  • ปัจจุบัน จีดีพี เวียดนามราว 40% มาจาก SMEs อีก 60% มาจาก FDI รวมทั้ง ‘Growth Engine’ อย่าง VinGroup ด้วย
  • อย่างไรก็ดี ในระยะยาวนักเศรษฐศาสตร์มองว่าการทำธุรกิจในลักษณะต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเช่นนี้อาจส่งผลกระทบให้การแข่งขันในตลาดเสรีน้อยลง

 

ประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economy) ที่ทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์ รวมถึงประชาชนทั่วไปกล่าวถึง ‘อย่างร้อนแรง’ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการเติบโตด้านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ ‘แซงหน้า’ หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งไทย แม้นักวิเคราะห์บางส่วนจะมองว่าหลายองค์ประกอบของเศรษฐกิจเวียดนามมีความเสี่ยงซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ก็ตาม 

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

โดยเครื่องมือสำคัญและคล้ายเป็นเหมือนทางลัดสำหรับการเติบโตอย่างพุ่งทะยานของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่คือ ‘กลุ่มทุน’ ในประเทศที่พร้อมจะดำเนินธุรกิจไปตาม ‘ครรลอง’ ที่รัฐบาลในประเทศนั้นต้องการพัฒนาไป ซึ่งคำศัพท์ที่หลายคนอาจคลับคล้ายคลับคลาในบริบทใกล้เคียงกัน คือ

  • คำว่า ‘Chaebol’ ในภาษาเกาหลีใต้
  • คำว่า ‘Qiye Jituan’ ในภาษาจีน
  • ‘Business House’ ในภาษาอินเดีย
  • ‘Los Grupos Económicos’ ในภาษาลาตินอเมริกา
  • ‘Zaibatsu’ ในภาษาญี่ปุ่น
  • ‘đại gia’ (ได่ ซา) และ ‘ông lớn’ (อง เหลิน)ในภาษาเวียดนาม
  • ‘กลุ่มทุนผูกขาด’ ในภาษาไทย

 

แม้ชื่อเรียกจะดูแตกต่างกัน ทว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันตรงที่มักเป็นธุรกิจของกลุ่มเศรษฐีหรือกลุ่มตระกูลธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศซึ่งมีอิทธิพลและเป็นเจ้าของธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่บุคคลหนึ่งคนเกิดไปจนตาย โดยส่วนมากจะยกเว้นธนาคารพาณิชย์ และที่สำคัญเป้าหมายทางธุรกิจทั้งหมดล้วนสอดคล้องไปกับแนวทางการพัฒนาประเทศของคณะผู้นำจนกระทั่งเป็นเหมือน ‘Growth Engine’ ไปด้วย

น่าสนใจว่า ในช่วงการหยุดชะงักของเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ของบริษัทน้อยใหญ่ทั่วไปที่เติบโตด้วยอัตราเร่งที่น้อยลงหรือไม่เติบโตเลย ทว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวกลับขยายตัวแบบสวนทาง

โดยกลุ่ม ‘Qiye Jituan’ ในจีนและ ‘Business House’ ในอินเดีย โต 23% ขณะที่กลุ่ม ‘Chaebol’ ในเกาหลีใต้โต 11%

 

 

อนึ่ง กลุ่มธุรกิจในลักษณะนี้มักแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับที่งานวิจัย ‘Asian Family Firms through Corporate Governance and Institutions: A Systematic Review of the Literature and Agenda for Future Research’  ให้ข้อมูลว่า

การทำธุรกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย มักจะเป็นในลักษณะกลุ่มทุนใหญ่และมักใช้หลักการทำธุรกิจแบบ ‘Know-Who’ มากกว่า ‘Know-How’ กล่าวคือการรู้จักกลุ่มคนที่มีอิทธิพลในหลากหลายแขนง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเมืองจะช่วยให้การทำธุรกิจราบรื่นมากขึ้น

 

หากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงถึง ‘VinGroup’ บริษัทสัญชาติเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศของ ‘ฝ่าม เญิ้ตเวือง’ วัย 55 ปี มหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์คนแรกของเวียดนามตามการจัดอันดับของฟอร์บ นิตยสารทางการเงินชื่อดัง เขาทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำของชีวิตคนหนึ่งคน ประกอบด้วย 

  • ธุรกิจโรงแรม VinPearl 
  • ห้างสรรพสินค้า VinCom 
  • อสังหาริมทรัพย์ VinHomes 
  • ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) VinBigData VinAI และ VinBrain 
  • ค้าปลีก VinCommerce 
  • การศึกษา VinSchool และ VinUniversity 
  • เทคโนโลยี VinCSS VinID และ VinHMS 
  • ยานยนต์ VinFast และ VinES
  • โทรคมนาคม VinConnect 
  • การแพทย์ VinBiotech และ VinMec 
  • สวนสนุก VinWonders

 

มูลค่าทรัพย์สินของบริษัท ‘VinGroup’ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.287 แสนล้านบาท)

  • รายได้ปี 2565 อยู่ที่ 5.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.881 แสนล้านบาท)
  • กำไรปีเดียวกันอยู่ที่ 84.52 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.78916 พันล้านบาท)

สินทรัพย์รวมของธุรกิจ VinGroup ในปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 5% ของจีดีพีเวียดนามทั้งประเทศ หรือ 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ จากจีดีพีเวียดนามทั้งหมด 3.626 แสนล้านดอลลาร์

 

อาณาจักร ‘VinGroup’ เจ้าสัวพันล้านดอลล์คนแรกของเวียดนาม ผูกขาดหรือเสรี?

 

ทั้งนี้ งานวิจัย ‘VinGroup: Success in the Fast-Changing Vietnamese Market Learning From a Conglomerate’ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของ VinGroup ว่าประกอบด้วย

  • ปี 1993 ฝ่าม เญิ้ตเวืองก่อตั้ง Technocom บริษัทขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศยูเครน
  • ปี 2000 ฝ่าม เญิ้ตเวืองตัดสินใจกลับเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนาม 10 ปี ให้หลังจากรัฐบาลปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีมากขึ้นด้วยแนวคิด ‘โด๋ยเม้ย’ (Đổi Mới)
  • ปี 2009 บริษัท VinCom เข้ามาเล่นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนพัฒนาประเทศของรัฐบาลเวียดนามตอนนั้น
  • ปี 2012 VinCom และ VinPearl ควบรวมเป็น VinGroup
  • ปี 2014 VinGroup เข้าสู่ธุรกิจในภาคค้าปลีก (Consumer Retail) และธุรกิจอาหารออแกนิค
  • ปี 2017 VinGroup เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นโฮจิมินห์ (HOSE)
  • ปี 2018 VinGroup ปล่อยรถยนต์ที่ผลิตในเวียดนามเป็นครั้งแรก

โดยงานวิจัยดังกล่าวให้เหตุผลถึงความสำเร็จของ VinGroup ว่าประกอบด้วย 5 ประเด็นหลักคือ 

  • ฝ่าม เญิ้ตเวือง วางแผนสร้างโครงข่ายธุรกิจของเขาโดยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเข้าควบรวมกิจการ (M&A) กับธุรกิจอื่นที่จะส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของธุรกิจหลัก
  • ฝ่าม เญิ้ตเวืองจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ฝ่าม เญิ้ตเวืองนำวิถีชีวิต ความเชื่อ และลักษณะนิสัยของชาวเวียดนามเป็นปัจจัยหลักในการทำธุรกิจ (Differentiation through Localization)
  • ฝ่าม เญิ้ตเวืองสร้าง ‘Ecosystem’ ของธุรกิจของเขา โดยแต่ละธุรกิจล้วนเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันได้ จนกระทั่งผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าและบริการของธุรกิจข้างเคียง
  • ฝ่าม เญิ้ตเวืองให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลอย่างมาก

อาณาจักร ‘VinGroup’ เจ้าสัวพันล้านดอลล์คนแรกของเวียดนาม ผูกขาดหรือเสรี?

 

บทวิเคราะห์ ‘Vietnam’s Chaebol Dream With VinGroup’ ของ The Vietnamese สื่ออิสระของเวียดนาม ระบุในบางช่วงว่า การเติบโตของ VinGroup ในเวียดนามมีความคล้ายกับโมเดล Chaebol ในเกาหลีใต้ และ Zaibatsu ในญี่ปุ่น โดยในช่วงที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจอื่นอยู่ในขาลง แต่ VinGroup กลับได้ดีลสำคัญทางธุรกิจไปมากมาย รวมทั้งทุกธุรกิจที่ทำยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี เช่นรัฐบาลตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ที่เข้าไปลงทุน

ภาคประชาสังคม (NGOs) ในเวียดนามจำนวนหนึ่งตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจของฝ่าม เญิ้ตเวืองและกลุ่มผู้นำว่าเหตุใดรัฐบาลจึงมักอนุมัติโครงการของนักธุรกิจคนดังกล่าวอย่างง่ายดาย แม้หลายครั้งอาจมีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม เช่นในกรณีสร้างสถานที่ท่องเที่ยวในเครือ VinGroup บริเวณอำเภอเกิ่น เยอ (Cần Giờ) เมืองโฮจิมินห์ใกล้กับป่าชายเลน ติดกับดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่าอาจกระทบต่อระบบนิเวศน์ป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียง

อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวเวียดนามส่วนหนึ่งมองว่า

“การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้บรรลุเป้าหมายเปลี่ยนเวียดนามเป็นประเทศรายได้ระดับกลางในปี 2030 และระดับสูงในปี 2045 โดยใจความสำคัญของประเทศเวียดนามปัจจุบันคือทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเร็วที่สุดก่อน และ ณ เวลานี้เครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตที่คนเวียดนามหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก็คือ VinGroup ดังนั้นมิติอื่นๆ เขาอาจจะมองว่าเป็นส่วนที่ได้มาจากการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว และอีก 40% ของประเทศซึ่งถือว่าไม่เล็กก็มาจากกลุ่ม SMEs อยู่แล้ว”

 

โดยหากกล่าวถึงเศรษฐกิจเวียดนามในภาพรวม การเติบโตประมาณ 40% มาจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และอีก 60% ที่เหลือมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และอานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง VinGroup เป็นต้น 

ด้านนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองประเด็นการทำธุรกิจหลากหลายที่ครอบคลุมเกือบทุกส่วนของชีวิตประชาชนคนหนึ่ง ตั้งแต่การศึกษา การท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การบริโภค การคมนาคม เทคโนโลยี ยาวไปจนถึงโรงพยาบาล เช่นนี้ว่าเป็นการ ‘ผูกขาด’ เนื่องจากท้ายที่สุดหาก VinGroup สามารถสร้างธุรกิจเหล่านั้นให้แข็งแกร่ง สำทับกับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจส่งผลให้การแข่งขันให้ธุรกิจต่างๆ ในเวียดนามน้อยลง ผู้เล่นระดับกลางและรายย่อยจะไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะแข่งขันกับกลุ่มธุรกิจดังกล่าวได้ 

“เมื่อการแข่งขันในประเทศน้อยลง ผู้บริโภคก็ต้องพึ่งพิงสินค้าและบริการจากเพียงบริษัทเดียว ส่งผลต่อเนื่องให้ VinGroup สามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางของตลาดและประชาชนได้ ท่ามกลางการตรวจสอบจากรัฐบาลที่เบาบาง”