ไตรมาส 2 พิจารณาความเสี่ยงเพื่อหาโอกาสลงทุน
สงครามยูเครนกับรัสเซียที่ยืดเยื้อเข้าสู่ปีที่ 2 ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่หดตัวลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทั้งหมดยังไม่มีเรื่องใดที่คลี่คลายลง แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯในปีนี้
คำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เป็นอีกครั้งที่เซอร์ไพรส ตลาดการเงิน-ตลาดทุน ด้วยการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เกินระดับคาดการณ์เดิม เพื่อคุมระดับเงินเฟ้อให้ต่ำ ทำให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอาจขึ้นไประดับ 6% และทำให้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว หรือ Inverted Yield Curve ก่อตัวขึ้นอีก นั่นหมายถึงเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงมากต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เร็วขึ้น
เศรษฐกิจและตลาดสินทรัพย์ไตรมาสที่ 1 คงเห็นแล้วว่า เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนอยู่ ถามว่าเมื่อมองภาพไปในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นอย่างไร การลงทุนจะต้องระวังอะไร ?
ช่วงไตรมาสที่ 2 ที่จะมาถึงมีทั้งความท้าทายและโอกาสการลงทุน มองว่าการเปิดเมืองของประเทศจีนเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อกิจกรรมเศรษฐกิจของจีนและกับประเทศอื่นแม้จะยังไม่ส่งผลบวกมากก็ตามแต่จะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของชาวจีนที่เป็นบวกต่อญี่ปุ่น ยุโรป รวมทั้งไทย ที่เป็นประเทศเป้าหมายและเป็นบวกธุรกิจภาคการส่งออกและนำเข้า เช่น การเดินเรือและประเทศที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเกาหลีใต้
อีกทั้ง การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ล่าสุดที่ระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ระดับ 5% ในปีนี้ แม้ไม่ได้มีสัญญาณการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม แต่ยังเป็นสัญญาณเชิงบวก
ในทางตรงข้ามปัจจัยลบโดยตรงที่ระวังในช่วงไตรมาส 2 คือ 1.) ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) DAOL SEC เรายังมองว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้แต่อาจเร็วขึ้นและยังเป็นตัวที่กดดันบรรยากาศการลงทุน
2.) ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่อาจเกิดขึ้น จะมีผลต่อท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย
3.) เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าจะกดดันตลาดสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับตัวลงและมีผลให้ตลาดสกุลเงินมีความผันผวนด้วย และ 4.) ตลาดหุ้นจะเจอการปรับตัวลง เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้ง โดย DAOL SEC ประเมินว่า หุ้นสหรัฐฯ จะมี Downside ประมาณ 5-10% เมื่อ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง
จะเห็นว่าตัวแปรที่เป็นปัจจัยลบนั้น กดดันทั้งต่อตลาดเงินและตลาดทุนโดยตรงและเป็นตัวแปรที่ตลาดสะท้อนการับรู้ไปยังไม่ทั้งหมด
DAOL SEC อยากแนะนำว่า ภาพรวมแม้จะมีปัจจัยลบกดดัน แต่ถ้าเป็นการลงทุนที่เข้าซื้อแล้วถือยาวข้ามปี แนะนำว่าการปรับตัวลงเป็นจังหวะเข้าทยอยสะสมได้ แต่ในระยะสั้น 3 – 6 เดือนยังต้องระวังความผันผวนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ดังนั้นพอร์ตการลงทุนเรายังให้น้ำหนักใน ตลาดหุ้นยุโรป จีน เกาหลีใต้ และไทย ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีนในสัดส่วนประมาณ 70% ลงทุนตราสารหนี้เอกชนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 25% แต่แนะนำถือเงินสดประมาณ 8-10% ในบางช่วงให้นักลงทุนพิจารณา
แม้จะเริ่มมีคำถามว่าจะเกิด Soft Landing หรือ Hard Landing กับเศรษฐกิจหรือไม่.? DAOL SEC ยังเชื่อว่า นโยบายการเงินของ Fed จะสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ และมองว่าปีนี้ไม่น่ากังวลเท่าปีที่ผ่านมา แต่การลงทุนในแบบระยะยาวขึ้นเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความแน่นอนและความผันผวนที่สูง