ตลาด ‘DeFi’ จ่อเกิด ‘วิกฤติเชิงระบบ’ ผลจาก SVB เหตุเข้าไม่ถึงเงินที่ปลอดภัย
USDC สเตเบิลคอยน์ที่ใหญ่อันดับสองของโลก จ่อเข้าสู่วิกฤติเชิงระบบหลังจากเข้าไม่ถึงการเงินที่ปลอดภัย กูรูชี้หากระบบ Blockchain ต้องการโฮสต์ระบบคู่ขนานให้บริการด้านการเงินควรได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินที่มั่นคง และคุ้มครองจากหน่วยงานกำกับดูแล
Key points
- ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคาร Silicon Valley Bank และ Silvergate Capital ของสหรัฐประกาศปิดตัวท่ามกลางการขายสินทรัพย์แบบขาดทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัท
- ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของเหรียญ USDC ย่อลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์
- กูรูชี้หน่วยงานกำกับดูแลควรเข้ามาให้ความคุ้มครองผู้ถือ Token เหมือนกับที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากของธนาคาร Silicon Valley Bank
เมื่อสเตเบิลคอยน์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเข้าไปเกี่ยวข้องกับการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ในแคลิฟอร์เนียเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึงงานเขียนชิ้นสำคัญของ ‘โนบุฮิโระ คิโยทากิ’ และ ‘จอห์น มัวร์’ สองนักคิดโมเดล ‘Credit Cycles’ ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ชื่อว่า ‘ปีศาจ’ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เป็นรากเหง้าของเงินทั้งหมด’ (Is the Root of All Money)
การเปลี่ยนชื่อเรื่องครั้งนั้นนับเป็นอุบายของศาสตราจารย์ทั้งสองที่ต้องการทำให้งานเขียน และหัวข้อบรรยายมีชีวิตชีวามากขึ้น และส่วนหนึ่งเพราะ “คำว่าปีศาจเป็นคำที่ค่อนข้างรุนแรง” ทั้งสองกล่าวไว้ “ท้ายที่สุดคุณอาจค้นพบว่าการจัดหมวดหมู่ทางศีลธรรมให้อะไรบางอย่างที่รุนแรงน้อยพอๆ กับการผิดสัญญานั้นค่อนข้างร้ายแรงจนเกินไป” ในกรณีนี้คุณอาจต้องการเปลี่ยนชื่องานเป็น ‘ความไม่ไว้วางใจคือ รากเหง้าของเงินทั้งหมด’ (Distrust Is the Root of All Money) แต่นั่นคงไม่ได้ให้ความหมายอย่างที่ทั้งสองต้องการ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วอาจชี้ชัดว่า โนบุฮิโระ และจอห์น อาจพูดถูกทั้งในเชิงการวิเคราะห์ และถูกในเชิงการเปรียบเปรย (hyperbole)จากคำกล่าวของทั้งสองที่ว่า
“ผู้คนไม่ได้ยอมรับ และถือเงินเพียงเพราะมันหมุนเวียนได้อย่างอิสระ หรือเพราะมันสามารถรักษามูลค่าของสิ่งต่างๆ ได้ แต่ผู้คนยอมรับ และถือเงินเพราะมันช่วยให้สังคมสามารถเอาชนะความหายนะของการผิดสัญญาได้”
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวข้างต้นอาจใช้ไม่ได้กับ ‘Circle Internet Financial’ บริษัทด้านการเงินเจ้าของเหรียญ USDC หนึ่งในเหรียญสเตเบิลคอยน์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 รองจาก Tether โดยบริษัทที่ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี ราว 8% ฝากเงินไว้กับ SVB ธนาคารผู้ให้บริการด้านสกุลเงินคริปโทฯ ที่เพิ่งประกาศปิดกิจการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.) ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาของสเตเบิลคอยน์ดิ่งลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ และยังลงไปต่ำกว่า 85 เซนต์ ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง หรือที่คำศัพท์ทางการเงินในยุคคลาสสิกเรียกว่า ‘USDC Broke the Buck.’ หรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของเหรียญ USDC ย่อลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ นั้นเอง
ทั้งนี้ Circle อาจยังคงรักษา ‘คำสัญญา’ ในการคงอัตราแลกเหรียญสำหรับสกุลเงินดอลลาร์ไว้ที่ 1: 1 ได้ แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยกับความสามารถการคงอัตราดังกล่าวไว้ก็ตาม ซึ่งในระยะสั้นนี้ USDC ก็ยังมีความเสี่ยงสูญเสีย ‘การอ้างสิทธิ’ ในการเป็น ‘สกุลเงิน’ มากอย่างมีนัยสำคัญ
เหรียญสเตเบิลคอยน์จะสามารถคงฐานะความเป็น ‘สกุลเงิน’ ได้หรือไม่ (?)
USDC ยังคงอยู่ท่ามกลางความโกลาหลของวิกฤติ ‘Bank Run’ และอาจอยู่ในช่วงสูญเสียความเทียบเท่ากับสกุลเงินสหรัฐ
อนึ่ง ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของบริษัทด้านคริปโทฯ ที่บริษัทคริปโทฯ ขนาดเล็กจํานวนมากเก็บเงินสดไว้ที่ธนาคาร SVB และส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เป็นบริษัทใน Silicon Valley ด้วย โดยแบบสอบถามของTechCrunch ระบุว่า สตาร์ตอัปสัญชาติอินเดียกว่า 60 แห่งยังไม่สามารถถอนเงินออกจากธนาคาร SVB ได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กประเมินว่า ธนาคาร SVB ล่มสลายเนื่องจากผู้บริหารโลภอยากได้ยีลด์ ซึ่งสินทรัพย์ที่ธนาคารดังกล่าวถือส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคาร ต้องขายสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรัฐบาลแบบขาดทุน
“ยิ่งอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นมากเท่าไร มูลค่าของตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในพอร์ตของ SVB ก็ยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น รวมทั้งยิ่งความเสียหายจากการลงทุนของ SVB มากเท่าไรรวมทั้งถ้าไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอีกด้วย ผู้ฝากเงินก็ยิ่งไม่ไว้วางใจระบบธนาคารมากเท่านั้น”
น่าสนใจว่าก่อนหน้านี้ Circle พยายามย้ายเงินไปยังธนาคารอื่น แต่ก็สายเกินไป เพราะกระแสความกังวลจากผู้ฝากเงินกับธนาคาร SVB เริ่มลามมาที่นักลงทุนใน USDC แล้ว และขณะที่เงินฝากใน SVB ในอัตราต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์ได้รับการประกันจากหน่วยงานของภาครัฐอย่างเต็มที่ ทว่าหน่วยงานดังกล่าวกลับไม่ให้ความคุ้มครองผู้ถือ Token แม้ว่า ‘Liquidity Pool’ ทั้งหมด 7 แห่งจาก 10 แห่งที่มีศักยภาพซึ่งดำเนินงานในระบบ ‘Ethereum Blockchain’ จะใช้ USDC ในการทําธุรกรรมทางการเงินก็ตาม
ด้านแกรี่ กอร์ตัน ศาสตราจารย์ด้านการเงินที่ Yale School of Management และเจฟเฟอร์รี่ จาง อัยการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เน้นย้ำถึงสุญญากาศทางกฎระเบียบนี้ว่าอาจทำให้เหรียญดังกล่าวเป็น ‘no-questions-asked Money’ หรือ ‘NQA Money’
“ไม่มีใครควรต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางการเงิน และประเมินทรัพย์สิน (Due Diligence) ในระบบแลกเปลี่ยนเงิน เพราะกระบวนการดังกล่าวควรจะเป็นอิสระจาก ‘ความชั่วร้ายของการผิดสัญญา’ โดย NQA Money ก็ต้องการความคุ้มครอง และการกำกับดูแลจากรัฐเช่นเดียวกัน”
ปัจจุบันหน่วยงานกํากับดูแลเข้ามาอุ้มสถานการณ์ของธนาคาร SVB ไว้ ทั้งในกรณีที่มีการคุ้มครอง และไม่มีการคุ้มครองเงินฝากก็ตาม และประชาชนอาจสงสัยในความสามารถในการถอนเงินของ Circle น้อยลงเพราะกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ และบริษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางกล่าวในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “ผู้ฝากเงินจะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดได้ตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 13 มี.ค.”
ทั้งนี้ สินทรัพย์สนับสนุนของ USDC ราว 77% อยู่กับกองทุนสํารองของ BlackRock Inc. ซึ่งลงทุนในหนี้ธนารักษ์ (Treasury Debt) ของสหรัฐแบบระยะสั้นที่มีความปลอดภัยสูงมาก
ความกังวลที่ใหญ่กว่าคือ การมาถึงของ ‘วิกฤติเชิงระบบ’ ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในโลกการเงินดั้งเดิม หรือ ‘TradFi’ โดยจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนกองทุนตลาดเงิน (Sponsors of Money-market Funds ) ในสหรัฐประสบกับเหตุการณ์คล้ายกันกว่า 200 ครั้งในทศวรรษ 1980 และต้องเข้ามาอุ้มสถาบันการเงินต่างๆ และน่าสนใจว่ามีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือปี 1994 และ 2008 ที่กลุ่มผู้ถือหุ้น (Shareholders) ต้องแบกรับความสูญเสียด้วยตนเอง
ถึงกระนั้น TradFi ก็ยังสามารถเข้าถึงรูปแบบเงินที่ปลอดภัยอย่างมากผ่านรูปแบบของเงินฝากธนาคารที่ประกันไว้
แต่ในโลกการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance) หรือ ‘DeFi’ กลับเป็นเหมือนอยู่ในโลกคู่ขนาน โดยการล่มสลายของ Silvergate Capital ธนาคารผู้ให้บริการด้านคริปโทฯ ยิ่งเน้นย้ำความแตกต่างดังกล่าว
ที่สำคัญนักลงทุนไม่สามารถเข้าถึง ‘Silvergate Exchange Network’หรือ SEN ระบบให้บริการแปลงดอลลาร์เป็นสินทรัพย์คริปโทฯ ได้ หลังจากบริษัท ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนประกาศปิดกิจการในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้นหากระบบ Blockchain ต้องการโฮสต์ระบบคู่ขนานเพื่อให้ประชาชนเข้าไปฝากเงิน ลงทุน กู้เงิน ปล่อยกู้ หรือทำประกันเงินฝาก อาจไม่สามารถพึ่งใบบุญของสเตเบิลคอยน์ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยในมูลค่าของมันได้ ยกเว้นจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินที่มีชื่อเสียงและมั่นคง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อย่างที่กล่าวมาอาจไม่เกิดขึ้นกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ CBDCs เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากหน่วยงานรัฐ ทว่าระบบดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง และก็ไม่แน่ใจว่าจะเปิดให้ใช้ในระบบ Blockchain ของสาธารณะหรือไม่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์