กองทุน เตือน‘หุ้นโลก’ผันผวนสูง แนะปรับพอร์ต ลดน้ำหนักรอดูสถานการณ์
วงการ บลจ. เตือนบรรยากาศลงทุนหุ้นโลกยังเปราะบางแนะปรับพอร์ตทำกำไร พร้อมจับตาดูสถานการณ์ใกล้ชิด 'มอร์นิ่งสตาร์' เผย พบมีกองทุนไทยไปลงทุนหุ้นแบงก์ในยุโรปเพียงรายเดียวมูลค่าแค่ 50 ล้านบาท เชื่อผลกระทบน้อย
ตลาดทุนทั่วโลกผันผวนหนัก จากสถานการณ์ปัญหาของสถาบันการเงินของทั้งในสหรัฐ และยุโรป ที่ธนาคารเครดิตสวิส มีปัญหาสภาพคล่อง จากที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (SNB)ประกาศว่าไม่เพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อ จากมีข้อกำกัดในการถือหุ้น ซึ่งไม่สามารถถือหุ้นเกิน10%ได้ จากปัจจุบันถือหุ้นระดับกว่า 9%แล้ว และยังคงเป็นประเด็นกดดันการลงทุน
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ท่ามกลางเหตุการณ์แบงก์สหรัฐและแบงก์ยุโรปประสบปัญหาสภาพคล่องยังส่งผลต่อตลาดการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ประมาท โดยเฉพาะการประชุมเฟดในวันที่ 22 มี.ค.นี้จะตัดสินใจอย่างไรต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้หากนักลงทุนหากรับความเสี่ยงได้ต่ำ และกลัวความผันผวนแนะนำต้องรอติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน รวมถึงแม้จะเป็นนักลงทุนมีพอร์ตการลงทุนเสี่ยงสูงมาก ควรหาจังหวะช่วงตลาดรีบาวนด์ปรับตัวขึ้นมา แบ่งขายทำกำไรบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตลงทุน
ส่วนทางด้านผลกระทบในเหตุการณ์หุ้นเครดิตสวิสต่อกลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ในยุโรป เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลขณะนี้ พบว่า กองทุนที่มีการลงทุนกลุ่มหุ้นยุโรปนั้น มีแค่เพียง 1 กองทุนที่ลงทุนหุ้นแบงก์ในยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนไม่เกิน 20% ของพอร์ตลงทุน ไม่มีการลงทุนหุ้นเครดิตสวิส และมีมูลค่ากองทุน (ณ สิ้นเดือนก.พ. 2566 ) มีขนาดเล็กมากเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
นายชาญวุฒิ รุ่งแสงมนูญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกองทุนต่างประเทศ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า เรามองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะตัว (Unsystematic Risk)ของธนาคารCredit Suisse เท่านั้น ที่เกิดจากปัญหางบการเงินของบริษัทหากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ในยุโรป พบว่าปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีสัดส่วนของ Capital Tier 1 และ Capital Tier 2 อยู่สูงกว่าที่เกณฑ์กำหนด อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ในยุโรปมีการทำ Stress Tress อยู่สม่ำเสมอ
ดังนั้น เรามองว่าตลาดมีความกังวลสูงต่อภาคธนาคารยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนเป็นเชิงลบ ทำให้ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนสูง และ มีความเสี่ยงปรับฐานลงต่อได้จึงแนะนำ นักลงทุนควรระมัดระวังลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรป เพื่อประเมินสถานการณ์ตลาดก่อน โดยติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป คืนนี้ ( 16 มี.ค ) คาดว่ายังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ และอาจมีการส่งสัญญาณมาตรการอื่นๆ
สำหรับกองทุนของ เอ็มเอฟซี ที่มี การลงทุนใน หุ้น Credit Suisse หรือหุ้นที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว มีดังนี้
M-EUBANK ลงทุน iShare STOXX Europe ไม่มีการลงทุนใน Credit Suisse (ได้รับผลกระทบจาก Market Sentiment), MEURO จากการตรวจสอบ Top 10 Holdings ไม่มี การลงทุนใน Credit Suisse ทั้งนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบกับทางกองทุนมาสเตอร์ฟันด์ ,กองทุนหุ้นต่างประเทศอื่นๆเบื้องต้น Top 10 Holdings ไม่มี exposure ใน Credit Suisse ทั้งนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบกับทางกองทุนมาสเตอร์ฟันด์
และกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ มี Exposure ใน Credit Suisse 0.17%-0.33% ของ NAV ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านกองทุน Master Fund ได้แก่ M-SMART INCOME 0.33%, M-INCOMEAI 0.20% และ M-MULTI 0.17% ทั้งนี้ มองว่าได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมี สัดส่วนการลงทุนค่อนข้างน้อย
นายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เซ็นทริเมนต์ตลาดยังค่อนข้างเปราะบางต่อข่าวในภาคธนาคารทั้งในสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลภาพรวมการลงทุนจะมีความผันผวนต่อไป อาจมีแรงขายทำกำไร ในระยะ 1 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้นักลงทุนระยะสั้น ต้องรอติดตามสถานการณ์การลงทุนในยุโรปและสหรัฐ จนกว่าจะสถานการณ์จะนิ่งและมีการแก้ไขปัญหาชัดเจน หรือจนกว่าดัชนีจะปรับลดลงเหลือระดับไม่เกิน 5-10 จุด เป็นจังหวะทยอยสะสม
ส่วนนักลงทุนระยะยาว มองว่าช่วงตลาดปรับตัวลงเป็นโอกาสเข้าสะสม หุ้นรายตัวทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มหุ้นเติบโต (เทคโนโลยีต่างประเทศ) รองมาเป็นกลุ่มหุ้นสาธารณูปโภค เฮลธ์แคร์ และพันธบัตร แต่ต้องระวัง หุ้นต่างประเทศและหุ้นไทย ในกลุ่มแบงก์ คอนซูมเมอร์ พลังงาน
นายบดินทร์ กล่าวว่า เหตุการณ์หุ้นเครดิตสวิสรอบนี้ ในส่วนของกองทุนหุ้นทั่วโลกของเรา เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดกับกองทุนหลักต่างประเทศ (มาสเตอร์ฟันด์) ยังไม่พบการลงทุนในหุ้นเครดิตสวิส เพราะกองทุนหลักส่วนใหญ่ปรับลดสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนหุ้นเครดิตสวิสตัั้งแต่เริ่มมีปัญหาตั้งแต่มี.ค.ปีก่อนแล้ว และยังไม่มีเม็ดเงินไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ มีเพียงผู้ถือหน่วยติดตามเข้ามาสอบถามสถานการณ์รอบนี้