นักลงทุนวิตกความช่วยเหลือภาคธนาคารไม่มากพอ

นักลงทุนวิตกความช่วยเหลือภาคธนาคารไม่มากพอ

เงินทุน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับต่อชีวิตธนาคารเฟิร์สรีพับลิก ช่วยบรรเทาความหวาดกลัวแบงก์ล้มได้ แต่ราคาหุ้นลงต่อแสดงว่านักลงทุนยังวิตกถึงความเสี่ยงในภาคธนาคาร

Key points:

  •  ธนาคารใหญ่สหรัฐหลายแห่งอัดฉีดเม็ดเงินให้กับธนาคารเฟิร์สรีพับลิก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเป็นวงกว้าง
  •  เจเน็ต เยลเลน, เจอโรม พาวเวล  และเจมี ไดมอน เป็นคนกลางเจรจา
  •  การช่วยเหลือจะช่วยให้ธนาคารไม่ล้มแบบปัจจุบันทันด่วนก็จริง แต่นักลงทุนยังหวั่นใจกับสถานะเงินสดที่เฟิร์สรีพับลิกเปิดเผย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ธนาคารใหญ่ของสหรัฐหลายแห่ง อัดฉีดเม็ดเงินให้กับธนาคารเฟิร์สรีพับลิกซึ่งมีฐานปฏิบัติการในซานฟรานซิสโก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเป็นวงกว้างผลจากธนาคารขนาดกลางสองแห่งของสหรัฐล้มละลายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารใหญ่สุดของสหรัฐจำนวนหนึ่งเข้าร่วมในดีลช่วยเฟิร์สรีพับลิกด้วย เช่น เจพีมอร์แกนเชส, ซิตี้กรุ๊ป, แบงก์ออฟอเมริกา, เวลส์ฟาร์โก, โกลด์แมนแซคส์ และมอร์แกนสแตนลีย์

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายเจมี ไดมอน ซีโอโอเจพีมอร์แกนเชส เป็นคนกลางเจรจาชุดมาตรการช่วยเหลือในสัปดาห์นี้จนได้ดีลดังกล่าว ไม่กี่วันหลังจากธนาคารเครดิตสวิสของสวิตเซอร์แลนด์ ได้สินเชื่อเร่งด่วนมากถึง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มาเพิ่มสภาพคล่อง ดีลเหล่านี้ช่วยให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสงบขึ้นในวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) และวันศุกร์ (17 มี.ค.) หลังหุ้นธนาคารดิ่งหนัก

อย่างไรก็ตาม แม้หุ้นเฟิร์สรีพับลิกขึ้น 10% ตอบรับข่าวความช่วยเหลือ แต่หุ้นดิ่งลง 18% ในการซื้อขายช่วงปิดตลาดหลังธนาคารแถลงว่าจะระงับจ่ายปันผล พร้อมเปิดเผยสถานะการเงิน และปริมาณสภาพคล่องที่ธนาคารต้องการ

นักวิเคราะห์มองว่า ทางการดูเหมือนต้องการให้จบเรื่องโดยเร็ว แต่กังวลว่าความเสี่ยงเกิดวิกฤติภาคธนาคารน่าจะไม่จบง่ายๆ

“พวกเขาใส่เงินให้เฟิร์สรีพับลิกเพื่อต่อชีวิตให้กับผลประโยชน์ของพวกเขาเอง เพื่อหยุดยั้งไม่ให้แบงก์ล้ม และเมื่อพวกเขาค่อยๆ ถอนเงินออก ธนาคารก็จะตายอย่างช้าๆ เยลเลนบอกชัดเมื่อคืนว่า เงินฝากทั้งหมดได้รับการคุ้มครอง แต่ใช่ว่าแบงก์ทั้งหมดจะได้รับความคุ้มครอง”

แม้การช่วยเหลือจะช่วยให้ธนาคารไม่ล้มแบบปัจจุบันทันด่วนก็จริง แต่นักลงทุนยังหวั่นใจกับสถานะเงินสดที่เฟิร์สรีพับลิกเปิดเผย หลังจากได้รับเงินอัดฉีดแล้ว รวมถึงการขอความสนับสนุนจากเฟดในเดือนนี้

ข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีชี้ว่า ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาธนาคารในสหรัฐขอสภาพคล่องฉุกเฉินจากเฟดมากเป็นประวัติการณ์ ผลักดันงบดุลของเฟดจากที่เคยหดตัวมาหลายเดือน

ในภาพกว้างความกังวลเกรงความเสี่ยงลุกลามยังมีอยู่

“ดิฉันไม่คิดว่าเรามีปัญหาวิกฤติการเงินโลก งบดุลดีกว่าเมื่อปี 2551 มาก ธนาคารได้รับการกำกับดูแลดีกว่า แต่ผู้คนกังวลว่าความเสี่ยงลุกลามมีอยู่จริงและนั่นเขย่าความเชื่อมั่น” คาเรน จอร์ริตสมา หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ออสเตรเลีย บริษัทอาร์บีซีแคปิตอลมาร์เก็ตส์ ให้ความเห็น

บทเรียนจากปี 2551

สำหรับตอนนี้ทางการมั่นใจว่าระบบธนาคารทานทนได้ และพยายามย้ำว่าความปั่นป่วน ณ ปัจจุบันแตกต่างจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 15 ปีก่อน เนื่องจากธนาคารระดมทุนได้ดีขึ้น หาเงินได้ง่ายขึ้น

เมื่อวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.50% โดยให้เหตุผลว่า ธนาคารยูโรโซนอยู่ในสถานะที่ดี การขึ้นดอกเบี้ยอาจหนุนผลกำไร

ตอนนี้จุดสนใจจึงเปลี่ยนไปอยู่ที่ตัดสินใจของเฟดในสัปดาห์หน้า ว่าจะยังยึดมั่นแผนขึ้นดอกเบี้ยงเชิงรุกเพื่อคุมเงินเฟ้ออีกหรือไม่

ในเอเชีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังจับตาตลาดเงินอย่างใกล้ชิด แต่มั่นใจว่าธนาคารท้องถิ่นทุนหนา สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ได้

กระทรวงการคลังญี่ปุ่น คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงิน และธนาคารกลาง ประชุมกันในวันนี้ (17 มี.ค.) เพื่อหารือสถานการณ์ตลาดเงิน