ค่าเงินบาทเปิดตลาด’แข็งค่า’ที่ 34.02บาทต่อดอลลาร์ หวังเฟดขึ้นดบ.แค่0.25%
กรุงไทย ชี้ตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง มากขึ้น เริ่มคาดหวังเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% และลดดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง อีกทั้งยังมีแรงซื้อทองในจังหวะย่อตัว จับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.90-34.15 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (21 มี.ค.) ที่ระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ33.90-34.15 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท ประเมินว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ทว่า เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลงได้ (แถวโซน 1,970 ดอลลารต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับแรกที่ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อ)
ส่วนในวันนี้ เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ในรอบการประชุมที่จะถึงในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะคงดอกเบี้ยและอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ ส่วนใหญ่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง)
ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะสามารถทยอยกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้แรงขายสุทธิหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลง หรือ กลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้บ้าง
ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ เริ่มกลับมาสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น+0.89% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น (Morgan Stanley +1.7%, JPM +1.1%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.6%, Chevron +1.5%) ที่ได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ (WTI รีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 67.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +0.98% หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาธนาคาร Credit Suisse ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น (Intesa Sanpaolo +3.7%, Santander +2.3%) นอกจากนี้ การรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ ยังได้ช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (BP +1.5%, TotalEnergies +1.4%) และตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม(Dior +2.0%, Hermes +1.7%) จากความหวังการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นกลับสู่ระดับ 3.48% จากที่ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 3.30% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า เฟดจะจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ และเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเรามองว่า มุมมองดังกล่าว อาจเปลี่ยนไปได้ หากผลการประชุมเฟดวันพฤหัสฯ นี้ ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่จบ เนื่องจากเฟดต้องการที่จะคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงให้สำเร็จเป็นหลัก ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า เฟดจะไม่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปมาก (หยุดที่ระดับ 5.00%) มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ทำให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.3 จุด ทั้งนี้ เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองทองคำ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ไกลนัก ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,983 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนมีนาคม โดยตลาดคาดว่า ความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจส่งผลให้บรรดานักลงทุนสถาบันรวมถึงบรรดานักวิเคราะห์ ต่างปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีลงบ้าง ทำให้ดัชนี ZEW เดือนมีนาคม อาจลดลงสู่ระดับ 17.1 จุด จาก 28.1 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงบวกต่อภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจ)