‘แบงก์ทั่วโลก’ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ เซ่นพิษอสังหาฯ จีน
ธนาคารผู้ปล่อยกู้ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ เหตุผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนประสบวิกฤติสภาพคล่อง ท่ามกลางพิษอสังหาฯ ด้านกูรูวิตกไม่เคยเจอตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้มากขนาดนี้มาก่อน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานวันที่ 29 มี.ค. 2566 ว่า ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อทั่วโลก (Global Creditors) เผชิญกับปัญหาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีนไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ตามเวลาที่ตกลงไว้ เนื่องจากขาดสภาพคล่องเพราะความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจีน 3 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19
ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรต่างประเทศของจีน (Offshore Bond Market) มีมูลค่าอยู่ที่7.35 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 24.255 ล้านล้านบาท)
โดยผู้ปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับเงินคืนตรงเวลาต้องการให้ผู้ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรรับผิดชอบกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความพยายามข้างต้นไม่สำเร็จเนื่องจาก “กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้” (Debt Restructuring Processes) ที่ยาวนานและ “การฟ้องร้องดำเนินคดี”
ผู้เสียหายไม่กี่รายแจ้งความจำนงให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการกรณีดังกล่าวตามขั้นตอนของทางการ ขณะที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่ยื่นคำร้องขอให้ปิดกิจการ (Winding-up Petitions) ซึ่งท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดการขายกิจการเหล่านั้นด้วยราคาแบบลดกระหน่ำ
แม้จะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับปรุงหนี้ (Debt Revamp Proposals) บ้าง ทว่า “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” (China Evergrande Group) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน แสดงความกังวลว่า บรรดานักลงทุนอาจต้องรออีกหลายปีกว่าจะได้รับเงินคืน
หนึ่งในทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ คือไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปอาจต้องสลับพันธบัตรชนิดเก่ากับพันธบัตรชนิดใหม่พร้อมยืดวันหมดอายุสินทรัพย์ให้ยาวกว่าเดิมเป็น 12 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า การต่อสู้ของผู้ปล่อยกู้เพื่อเรียกเงินคืนจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนครั้งนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่นักลงทุนต่างชาติต้องเผชิญในตลาดสินเชื่อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน แต่ยังเน้นย้ำว่ารัฐบาลจีนยังไม่สามารถแก้วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ได้
ขณะที่บทวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า แม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์มากเพียงใด ทว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายแห่งยังเผชิญกับวิกฤติสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลที่รวบรวมโดยบลูมเบิร์กระบุว่า การค้างชำระหนี้พันธบัตรของภาคเอกชน (Corporate Delinquency) ในจีนปี 2565 รวมอยู่ที่ 4.65 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.53 ล้านล้านบาท) ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผิดนัดชําระหนี้พันธบัตรมากกว่า 140 รายการ มูลค่ารวมทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท) ตามมูลค่าพันธบัตรที่ปล่อยออกไปทั้งหมดในปีเดียวกัน
ด้านชาร์ลส ชาง ผู้อํานวยการอาวุโสของเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ (S&P Global Ratings) ในฮ่องกง กล่าวว่า “เราไม่เห็นกรณีการผิดนัดชำระหนี้ที่มากขนาดนี้ในจีนมาหลายปีแล้ว และเป็นเรื่องยากที่จะใช้มาตรวัดในอดีตมาประเมินสถานการณ์ในตอนนี้ได้”
ส่วนพันธบัตรแบบให้ผลตอบแทนสูงในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ของจีน (China’s High-yield Dollar Bonds) ขณะนี้สูญเสียมูลค่ารายเดือน (Monthly Loss) มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ยากลำบากขึ้นไปอีก โดยพันธบัตรของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ปส่วนใหญ่ราคาต่ำกว่า 10 เซนต์ แม้อยู่ท่ามกลางแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินก็ตาม สะท้อนว่าบรรดานักลงทุนแทบไม่เชื่อมั่นว่าบริษัทจะฟื้นกลับมาได้