10 อันดับกองทุน 'ผลตอบแทน' สูงสุด ไตรมาส 1/66
มรสุมการลงทุนในช่วงโค้งแรกปีนี้ สร้างความปั่นป่วนในตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่า "หุ้นเทคโนโลยี" ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษปีก่อน และฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงต้นปี
แต่ "หุ้นเทคโนโลยี" กลับมาเผชิญแรงขายในช่วงเดือน ก.พ. จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เสี่ยงต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอย คาดเกิดขึ้นในปี 2566 จนกระทั้งหลังจากที่ประชุมเฟดครั้งล่าสุดยังส่งสัญญาณกลับมาขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่ตลาดคาด
และแต่ต้นเดือนมี.ค.ช็อคตลาด เริ่มเห็นผลกระทบจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว จนเกิดเหตุการณ์แบงก์รันในสหรัฐและยุโรป "หุ้นเทคโนโลยี" ยังปรับตัวลงเช่นกัน แต่ดูเหมือนการปรับตัวลงยังน้อยกว่าตลาดอื่น เพราะตลาดคาดการณ์ว่าใกล้จุดสูงสุดของการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
และเมื่อธนาคารกลางต่างๆ เข้าไปคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เริ่มอัดฉีดสภาพ "หุ้นเทคโนโลยี" กลับปรับตัวขึ้นเร็วกว่าตลาดอื่นๆ ในวิกฤติความเชื่อมั่นของนักลงทุนในรอบนี้
สะท้อนจาก "หุ้น Nasdaq" กลับมาฟื้นตัวเร็วและแรงขึ้น จนทำให้ตั้งแต่ต้นปี (YTD) +14.8% หลังจากปีที่ผ่านมาปรับลงไปเกือบ 30% ทำให้คาดกันไปว่าลงได้อีกไม่มากจากนี้ (Downside Risk ค่อนข้างจำกัด)
ขณะเดียวกัน "หุ้นเทคโนโลยีในจีน" ยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวและยังมีโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ข้อมูลจาก "มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า
10 อันดับกองทุน 'ผลตอบแทน' สูงสุด
ผลตอบแทนกองทุน สูงสุด 10 อันดับแรก กลุ่ม "กองทุนหุ้นเทคโนโลยี" กวาดเรียบ มีผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 20% ดังนี้
1.กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ดิจิทัล บล็อกเชน เพื่อการออม (ASP-DIGIBLOC-SSF) ผลตอบแทนสูงสุด 42.19 %
2.กองทุนเปิด ทิสโก้ Next Generation Internet ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TNEXTGEN-A) ผลตอบแทน 29.06 %
3.กองทุนเปิด ดาโอ เน็กซ์ เจเนอเรชั่น อินเทอร์เน็ต
(DAOL-CYBER) ผลตอบแทน 26.47%
4.กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เมตาเวิร์ส อิควิตี้ (M-META) ผลตอบแทน 24.86 %
5.กองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง Next Generation Internet (TMB-ES-INTERNET) ผลตอบแทน 24.84 %
6.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Next Generation Internet
(ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ SCBNEXT(SSFE) ผลตอบแทน 24.79 %
7.กองทุนเปิด วรรณ เมตาเวิร์ส อิควิตี้ (ONE-METAVERSE) ผลตอบแทน 24.66 %
8.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Semiconductor
(ชนิดเพื่อการออมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ SCBSEMI(SSFE) ผลตอบแทน 24.30 %
9. กองทุนเปิดเคเคพี เซมิคอนดักเตอร์ เฮดจ์ ชนิด F
(KKP SEMICON-H-F) ผลตอบแทน 22.35 %
10. กองทุนเปิด แอล เอช เซมิคอนดักเตอร์ ชนิดจ่ายเงินปันผล (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์LHSEMICON-E) ผลตอบแทน 21.13 %
หุ้นเทคฯ สหรัฐ-จีน กลับสู่เรดาห์ลงทุนฝ่าวิกฤติเชื่อมั่น
"นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ มองว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคบริการ และภาคแรงงานที่มีความแข็งแกร่ง ประกอบกับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นโลก ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยที่ผ่านมาสินทรัพย์ประเภทหุ้น โดยเฉพาะ Growth Stock หรือ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหุ้นคุณภาพสูง (High-quality stocks) จะ outperform กว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) เริ่มปรับลด (ดอกเบี้ยเข้าสู่จุดสูงสุด) เราจึงมีความสนใจในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐฯ
“หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกด้านแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทเทคฯ และการเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทฯ มองว่าหุ้นเทคฯ ที่คัดเลือกมาทั้ง 4 กลุ่ม ล้วนมีความสามารถด้านการแข่งขันทางตลาด โดยจะพบว่า หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (US Tech) เป็นกลุ่มเดียวที่นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มการคาดกาณ์ผลการดำเนินงาน (Earnings reversions) เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น"
นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี มองว่า เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นต่างประเทศที่ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับไม่แพง ขณะที่แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมีแนวโน้มลดลงหลังจากเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง
และโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐทำให้ภาคธนาคารพาณิชย์ทั้งในฝั่งสหรัฐและยุโรปมีสเถียรภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลบวกต่อหุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หลังจากที่เผชิญแรงกดดันจากอัตราคิดลด (Discount rate) และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมา จนปรับตัวลดลงมาซื้อขายในระดับไม่แพง
มองว่า หุ้นเทคโนโลยีในจีน รายใหญ่ยังน่าสนใจ แนะนำสัดส่วนหุ้นจีน 10% ของพอร์ตหุ้นต่างประเทศ มีสัดส่วนในพอร์ตหุ้น 60% จากพอร์ตลงทุนรวม เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงภายใต้ภาวะตลาดหุ้นยังผันผวน และยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงหลักในปี 2566 ได้แก่ ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยจากการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาเป็นระยะเวลานาน ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน และการชะลอตัวของภาคการบริโภค