ทางเลือกของนักลงทุนกับการบริหารจัดการสภาพคล่องระยะสั้น ตอนที่ 2

ทางเลือกของนักลงทุนกับการบริหารจัดการสภาพคล่องระยะสั้น ตอนที่ 2

ทางเลือกของการบริหารจัดการสภาพคล่องที่เป็นส่วนสำคัญของการบริหารพอร์ตฟอลิโอนั้นมีหลากหลายทาง และจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ดีในหลายๆด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว

เพราะน่าจะเห็นจากรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าการฝากธนาคารในบางสถานะการณ์ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อนที่เรายกทางเลือกของการบริหารจัดการสภาพคล่องมาพิจารณาข้อดีข้อเสียกันไป เช่น การฝากธนาคาร การลงทุนในกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้

โดยยกให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียรวมถึงความเสียงที่มาพร้อมกับทางเลือกนั้นๆ สัปดาห์นี้เราจะมาพูดถึงทางเลือกที่เหลือกันครับ ได้แก่ การพักเงินในหุ้นกู้อนุพันธ์ประเภทคุ้มครองเงินต้น การลงทุนทางเลือกบางชนิด เช่น ทองคำ สกุลเงินดิจิทัล รวมถึงการถือเงินสดด้วย

ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ประเภทที่คุ้มครองเงินต้น (Principal Protected Note) หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) นั้นเป็นทางเลือกของการลงทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นมีหลากหลายรูปแบบทั้งคุ้มครองเงินต้นและไม่คุ้มครอง ให้ผลตอบแทบอ้างอิงกับสินทรัพย์หรือดัชนีอ้างอิง ซึ่งดัชนีอ้างอิงก็มีหลากหลายทั้งอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ หลักทรัพย์รายตัวทั้งในและต่างประเทศ

โดยประเภทที่มีการคุ้มครองเงินต้นนั้นอาจจะพิจารณาเป็นทางเลือกในการบริหารเงินระยะสั้นได้เช่นกัน ข้อดีก็คือนักลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มขึ้นอยู่กับดัชนีและเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนของตราสาร แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็มีเช่นกัน เช่น เรื่องของความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร ตราสารที่มีการลงทุนจริงๆ ที่บ่อยครั้งจะมีการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หรือ มีลักษณะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ออกตราสาร (Funding)

 

ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องพิจารณาโอกาสในการได้รับเงินคืน เช่น หากแท้จริงแล้วไปลงทุนในหุ้นกู้เอกชนก็ต้องพิจารณานโยบายว่าลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับใด มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาสถานะทางการเงินของผู้ออกตราสารด้วย ว่าจะสามารถทำตามข้อตกลงในตราสารนั้นได้หรือไม่ และจำเป็นจะต้องพิจารณาต้นทุนแฝงที่มาพร้อมกับราคาของตราสารประกอบด้วย

ลงทุนในการลงทุนทางเลือก เช่น ทองคำ หรือสกุลเงินดิจิทัล สินทรัพย์อีกชนิดที่มักจะทำได้ดีและเป็นที่นิยมของนักลงทุนหลายๆ คน ในภาวะที่เศรษฐกิจประสบกับภาวะถดถอย เงินเฟ้อสูง และเมื่อเวลาที่ตลาดการเงินประสบกับความไม่แน่นอนคือ ทองคำ และในรอบหลายปีหลังอาจจะต้องรวมสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Crytocurrency) บางสกุลเงินด้วย เห็นได้ชัดจากภาวะในปัจจุบันที่เมื่อภาคธนาคารเกิดความไม่แน่นอน

ทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนไปยังกองทุนรวมตลาดเงิน ทองคำ และสกุลเงินดิจิทัลด้วย สะท้อนจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสินทรัพย์เหล่านี้มีข้อดีร่วมกันคือไม่มีการควบคุมและแทรกแซงจากรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือใครก็ตาม นอกจากนั้นยังมีอุปทาน (Supply) ที่จำกัดทำให้เหมาะสมกับการรักษามูลค่าของเงินในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง แต่ก็มาพร้อมกับความผันผวนด้านราคาที่มากขึ้นกว่าทางเลือกของการพักเงินช่องทางอื่นๆ และจำเป็นจะต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังและในสัดส่วนที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงในภาพรวมที่รับได้

ถือเงินสด การถือเงินสดอาจจะดูปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องไม่ได้รับเงินคืน หรือเรื่องความผันผวนของราคา แต่อาจจะมีความเสี่ยงที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือเรื่องของการด้อยมูลค่าของเงิน ซึ่งการถือเงินสดนั้นอาจจะดูปลอดภัยที่สุดแต่ก็ไม่มีผลตอบแทนให้

ในขณะที่ราคาของสินค้าและบริการนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้กำลังซื้อนั้นลดลงเรื่อยๆ นั่นเอง โดยการถือเงินสดนั้นในระยะยาวอาจจะทำให้สูญเสียอำนาจการซื้อไปอย่างมีนัยสำคัญได้ และนับเป็นทางเลือกของการพักเงินที่อาจจะดูมีความเสี่ยงที่ไม่คุ้มค่าซักเท่าไร ยกเว้นในส่วนที่กันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉินต่างๆ

การบริหารสภาพคล่องนั้นเป็นส่วนสำคัญของการบริหารพอร์ตฟอลิโอและองค์ประกอบของการวางแผนการลงทุนที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ แม้ความเสี่ยงในภาพรวมอาจจะไม่มากนัก ทำให้มักจะถูกละเลย ในขณะที่ผลตอบแทนก็มีความใกล้เคียงกัน ทำให้หลายๆครั้งมักไม่ถูกกระจายความเสี่ยงออก ทำให้ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด (Tail Risk) นั้นอาจจะสร้างความเสียหายได้มาก

โดยทางเลือกแต่ละอย่างไม่ว่าจะเป็น ถือเงินสด ฝากธนาคาร ลงทุนกองทุนตลาดเงินหรือพันธบัตร การลงทุนทางเลือก ในแต่ละอย่างนั้นก็จะมีผลตอบแทน ความเสี่ยง ข้อดีข้อเสีย รวมถึงความซับซ้อนที่แตกต่างกันไป และผลตอบแทน และความเสี่ยงต่างๆ เหล่านั้นก็จะผันแปรไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ทำให้เราจำเป็นจะต้องติดตามสถานการณ์เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุดครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด