นับถอยหลัง ‘3 ระเบิดเวลา’ เขย่าเศรษฐกิจสหรัฐ น่ากังวลแค่ไหน? 

นับถอยหลัง ‘3 ระเบิดเวลา’ เขย่าเศรษฐกิจสหรัฐ น่ากังวลแค่ไหน? 

ส่องสัญญาณเตือน “ระเบิดเวลา 3 ลูก” เขย่าเศรษฐกิจสหรัฐ “เพดานหนี้สาธารณะ-สินเชื่อปล่อยยากขึ้น-วิกฤติอสังหาฯ เชิงพาณิชย์” น่ากังวลมากน้อยแค่ไหน (?)

Key Points 

  • สหรัฐเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ 3 ลูก ได้แก่ วิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ-สินเชื่อปล่อยยากขึ้น-วิกฤติอสังหาฯ เชิงพาณิชย์
  • รมว.คลังสหรัฐ ต้องการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้
  • ธนาคารของสหรัฐปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 11.2% จากช่วงปี 2563 ถึง 2565 และมี 3 ธุรกิจอสังหาฯ ยักษ์ที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้
  • หนี้อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์เกือบ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ จะครบกำหนดชำระภายในปีนี้

เมื่อไม่นานนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจะประเมินว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านตัวเลขการจ้างงานสหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของเดือน ม.ค. ก.พ. และ มี.ค. อยู่ที่ 517,000 ตำแหน่ง 311,000 ตำแหน่ง และ 431,000 ตำแหน่งตามลำดับ ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นลงที่ระดับ 3.4%  3.6% และ 3.5% เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวเลขในภาคการจ้างงานที่แข็งแกร่ง นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังกังวลว่าสหรัฐมี “ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ” อย่างน้อย 3 ลูกที่อาจระเบิดและส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐล้มครืนจนกระทบเศรษฐกิจของหลายประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่ วิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ, การที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น และปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

การขยายเพดานหนี้สาธารณะ

เริ่มต้นที่ประเด็น “วิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ” หากย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานแถลงการณ์ของเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐว่า สหรัฐมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หากไม่รีบขยายเพดานหนี้สาธารณะ โดยภาระหนี้จะถึงขีดจำกัดในวันที่ 19 ม.ค.จึงมีความจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเพื่อรักษาเครดิตของประเทศไว้

นับถอยหลัง ‘3 ระเบิดเวลา’ เขย่าเศรษฐกิจสหรัฐ น่ากังวลแค่ไหน? 

ปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุล ผ่านการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อพยุงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจขณะนั้นไว้ ส่งผลให้ท้ายที่สุด หนี้ในประเทศพอกพูนขึ้นสวนทางกับรายได้จากการเก็บภาษีที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ที่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน หนี้ของสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนถึง 130% ต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ด้านสำนักงานงบประมาณของสหรัฐ ประเมินว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. เป็นต้นไป รัฐบาลสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณ 1 ล้านล้าน (33 ล้านล้านบาท) ติดต่อกันทุกปี ซึ่งเงินที่ขาดดุลดังกล่าวจะใช้ไปกับการอัดฉีดเงินเข้าระบบ รวมทั้งการให้สวัสดิการทางสังคมกับประชาชนที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องใช้บริการระบบสาธารณสุขมากขึ้น ในขณะที่รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง 

ท้ายที่สุด หากสหรัฐไม่สามารถขยายเพดานหนี้เพื่อ “ซื้อเวลา” ได้อาจประสบกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้โดยรัฐบาล จนทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง และอาจร้ายแรงถึงต้องประกาศล้มละลาย 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีความน่าเชื่อถือสูง ระบบการเงินมีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงอาจสามารถขยายเพดานหนี้ได้สูงกว่าปกติและไม่ประสบกับปัญหาร้ายแรงอย่างที่กล่าวไป

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการขยายเพดานหนี้มักเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงกันในรัฐสภาสหรัฐ ระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันในฐานะ “เครื่องมือทางการเมือง” ทว่าจากสถิติที่ผ่านมา แม้จะมีความขัดแย้งกันในสภาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวหลายครั้ง ทว่าทุกครั้งก็จบลงที่การขยายเพดานหนี้ เนื่องจากทุกภาคส่วนไม่ต้องการให้สหรัฐสูญเสียความน่าเชื่อถือทางการเงินไป

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's Investors Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกที่มองว่า หากสหรัฐไม่ขยายเพดานหนี้จะทำให้ประชาชนราว 6 ล้านคนตกงาน รวมทั้งกระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรง จนท้ายที่สุดครอบครัวชาวอเมริกันอาจสูญเงินรวมกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 495 ล้านล้านบาท)

การปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ที่เข้มงวดมากขึ้น

ส่วนระเบิดเวลาลูกต่อไปของสหรัฐคือ “ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น” หรือ The credit crunch โดยจากวิกฤตการณ์การ ล่มสลายของภาคธนาคารพาณิชย์ จากวิกฤติแบงก์รัน (Bank Run) ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่โตแบบ “Hyper Growth” 

ทั้งหมดส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกกฎระเบียบคุมเข้มในภาคการเงินมากขึ้นจนธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำยากยิ่งขึ้น ทำให้หลายธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้และเกิด “การว่างงาน” ผลสุดท้ายอาจนำไปสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่า ระเบิดเวลาลูกนี้อาจเกิดขึ้นแล้ว เพราะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าระเบิดเวลาลูกแรกที่ว่าสหรัฐอาจล้มละลายจากการขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่สำเร็จ

“จากข้อมูลพบว่า ตอนนี้แบงก์พาณิชย์หลายแห่งเพิ่มกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวดมากขึ้น” ไมค์ วิลสัน นักกลยุทธ์ด้านหุ้นชื่อดังจากมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) กล่าว

วิลสันระบุเพิ่มเติมว่า จากการประเมินผ่านแบบสอบถามของธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐพบว่า ความพร้อมทางเครดิต (Credit Availability) ลดลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี โดยก่อนเกิดความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐ ในไตรมาส 4 ปี 2565 ธนาคารพาณิชย์กว่า 45% ก็ค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ด้าน ทอร์สเต็น สล็อค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Apollo Global Management เห็นสอดคล้องกับวิลสันว่า “ความกังวลที่ว่าธนาคารพาณิชย์จำนวนมากจะปล่อยสินเชื่อให้บริษัทต่าง ๆ ยากขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว”

สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อไปคือ เมื่อธุรกิจในสหรัฐจำนวนหนึ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น บริษัทเหล่านั้นอาจประสบกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจน

ท้ายที่สุดต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหานี้อาจร้ายแรงกว่าเดิม เพราะจากสถิติเมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ชาวอเมริกันเป็นหนี้บัตรเครดิตสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 9.306 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30.7 ล้านล้านบาท)

หากประชาชนตกงานและเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวได้ก็อาจเกิด “วิกฤติหนี้เสีย” ของภาคประชาชนตามมาอีกระลอกหนึ่ง

วิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ สำหรับระเบิดเวลาลูกสุดท้ายคือ “ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์” โดยวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์

ย้อนกลับไปช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคธนาคารของสหรัฐปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 11.2% จากช่วงปี 2563 ถึง 2565 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 17 ปี และที่สำคัญ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 24% ของสินเชื่อธนาคารทั้งหมดในสหรัฐ

ที่น่ากังวลคือ จากข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ชี้ว่า บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐผิดนัดชำระหนี้แล้วอย่างน้อย 2 ราย และอยู่ในการเฝ้าระวัง (A Watch List) อีก 1 ราย ประกอบด้วย 

1. แปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ (Pacific Investment Management) บริษัทให้เช่าพื้นที่สำนักงานสหรัฐ ผิดนัดชำระหนี้ “หุ้นกู้ใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน” (Mortgage Note) มูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ (5.61 หมื่นล้านบาท)  สำหรับอาคาร 7 แห่งในเมืองซานฟรานซิสโก บอสตัน และนิวยอร์ก

2. บรูคฟิลด์ (Brookfield) บริษัทเพื่อการลงทุนในสหรัฐ​ ผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อสำหรับพื้นที่สำนักงานและอาคารพาณิชย์ที่ใช้จำหน่ายสินค้า (Complex) 2 แห่งในนครลอสแอนเจลิส และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.96 หมื่นล้านบาท)

3. เวอร์นาโด เรียลตี้ ทรัสต์ (Vornado Realty Trust) บริษัทเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็เข้าไปอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังผิดนัดชำระหนี้ของทางการสหรัฐเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น จากสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐขณะนี้ ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจรวมทั้งในบริษัทต่าง ๆ ลดน้อยลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์จำนวนมากออกมาตรการเข้มงวดนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้นอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ จนสภาพการเงินฝืดเคือง และเศรษฐกิจหดตัว 

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคส่วนที่ก่อหนี้มากที่สุดในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้น สภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าวจึงกดดันให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามข้อมูลของเทรปป์ (Trepp) บริษัทอสังหาริมทรัพย์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งรวบรวมโดยเจ.พี.มอร์แกน (JPMorgan) ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงและสภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นจากวิกฤติภาคธนาคารพาณิชย์ช่วงที่ผ่านมา อาจสร้างอุปสรรคให้กับบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เนื่องจากพวกเขาพยายามที่จะรีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนวนมาก โดยหนี้อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์เกือบ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 14.85 ล้านล้านบาท) จะครบกำหนดชำระภายในปี 2566 ซึ่งหมายความว่าต้องชำระเงินงวดสุดท้ายในเร็ววันนี้

ท้ายที่สุด ฮาเวิร์ด มาร์คส นักลงทุนชื่อดังชาวอเมริกัน ให้ความเห็นว่า “โดยทั่วไป การผิดนัดชำระหนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของวิกฤติ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาระหว่างผู้ให้กู้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ โดยหลายกรณี ผลที่ตามมามักเป็นการขยายระยะเวลาการกู้ยืมตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้”