เปิดภาพรวม ผลประกอบการ 10 ธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสแรก ปี 66
เปิดภาพรวมผลประกอบการ 10ธนาคารพาณิชย์ โดยกำไรไตรมาสพุ่ง 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.17% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 13.45% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สำรองหนี้ พบว่าโดยรวมอยู่ที่ 5.1หมื่นล้านบาท ลดลง 16.79% จากไตรมาสก่อนหน้า
ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับผลประกอบการ “ธนาคารพาณิชย์”ไตรมาส 1ปี 2566 ภาพรวมถือว่าออกมาดีเกินคาด โดยเฉพาะ “กำไรสุทธิ” ที่หลายแบงก์ทำออกมาได้ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ปัจจัยบวกหนึ่งที่ทำให้ “กำไรสุทธิ”ของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก สำรองหนี้สูญ หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ปรับลดลดลง จากการตั้งสำรองมาแล้วค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา
ประกอบกับ ธนาคารยังได้รับผลบวกจาก ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของหลายธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น
หากดูไส้ในของผลประกอบการ ธนาคารพาณิชย์ 10แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย(KTB) ธนาคารกรุงเทพ(BBL)ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือSCB ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต(TTB) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารทิสโก้( TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG) และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)
โดยภาพรวมกำไรสุทธิ 10แบงก์ไตรมาสแรก ปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ 60,136ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.45% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 53,007ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 37.17% หากเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,840ล้านบาท
ธนาคารที่ทำผลประกอบการเติบโตที่โดดเด่นในไตรมาสปีนี้ และมีกำไรมากที่สุดคือ SCB โดยกำไรสุทธิไตรมาสแรกอยู่ที่ 10,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.47% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 53.93%จากไตรมาสก่อนหน้า
ถัดมาคือ KBANK โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 236% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับลดลง -4.19%หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และอันดับ3 BBL โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.30%จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ33.82%จากไตรมาสก่อนหน้า
ในด้าน “การสำรองหนี้สูญ” อยู่ในทิศทางลดลง โดยภาพรวมสำรองทั้ง10แบงก์อยู่ที่ 51,796ล้านบาท ลดลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 16.79% แต่เพิ่มขึ้นหากเทียบกับ ช่วงเดียวกันปีก่อน 18.63%
โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองลดมากที่สุดในไตรมาสนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดือ TISCO สำรองลดลง 66% ถัดมาคือKKP และ KBANK แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า แบงก์ที่มีการตั้งสำรองลดลงมากที่สุดคือ BAY 14.15% และTTB 11.06% และ LHFG 7.27%
ขณะที่แบงก์ ที่มีการสำรองเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าคือ CIMBT สำรองเพิ่มขึ้น 128% ถัดมา KTB 48.15% และTISCO ที่ 47.06%
ส่วนภาพรวม “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่ปรับลดลงเล็ก หากเทียบกับ สิ้นปีที่ผ่านมา
โดยภาพรวมหนี้เสียโดยรวมทั้ง 10แบงก์อยู่ที่ 510,399 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า