พายุ ‘เศรษฐกิจสหรัฐ’ ตั้งเค้า? ‘บอนด์ยีลด์ 3 เดือน’ สูงแซงระยะยาว แตะ 5.1%
“พันธบัตรรัฐบาล 3 เดือน” ของสหรัฐ ให้ผลตอบแทนสูงกว่าระยะยาวอยู่ที่ 5.1% ผลจากรัฐบาลเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ พุ่งพรวดจากในปี 2554 ที่แตะระดับสูงสุดเพียง 1.1% ผู้เชี่ยวชาญเตือน สัญญาณ “มรสุมเศรษฐกิจ” รออยู่ข้างหน้า
Key Points
- เดือน ม.ค. 2566 หนี้สาธารณะของสหรัฐแตะระดับสูงสุดไปแล้ว
- ประเด็นเพดานหนี้มักเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของสองพรรคการเมืองใหญ่
- ดีมานด์ของ Credit Default Swap (CDS) จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
- ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายการประกันหนี้สหรัฐ ระยะเวลา 1 ปี ปรับตัวสูงขึ้นเป็นกว่า 1% เทียบกับปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 0.63%
หากดูภาพรวมตลาดการเงินในสหรัฐ อาจแทบมองไม่ออกเลยว่า “หนี้สาธารณะ” ของสหรัฐได้แตะระดับสูงสุดไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และหากไม่เร่งดำเนินการขยายเพดานหนี้ให้ทันท่วงที สหรัฐอาจเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองในสหรัฐ กลับใช้ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” เพื่อต่อรองผลประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่เหลือเวลาแก้ไขปัญหาน้อยลงทุกที
ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เน้นย้ำว่า ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่ร่วมกันขยายเพดานหนี้สาธารณะภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีความเสี่ยงสูงมากที่รัฐบาลจะเผชิญกับการผิดนัดชําระหนี้
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ “มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” (Moody's Investors Service) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกที่ว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ประชาชนราว 6 ล้านคนจะตกงาน รวมทั้งกระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรง จนท้ายที่สุดครอบครัวชาวอเมริกันอาจสูญเงินรวมกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 495 ล้านล้านบาท)
“ตลาด” ไม่เมินเฉยปมเพดานหนี้สาธารณะ
ปัจจุบัน บรรดานักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูงเป็นประวัติการณ์ (Historically High Yields) จากพันธบัตรของกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่จะครบกำหนดในเดือน ก.ค.นี้
โดยจากการประมาณการของนักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่า ผลตอบแทนพันธบัตรดังกล่าวจะสูงที่สุดแบบเป็นประวัติการณ์ก็ต่อเมื่อรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร (Default on its Debt) โดยปราศจากการลงมติใด ๆ จากสภาคองเกรส เพื่อขยายเพดานหนี้ นั่นหมายความว่า บรรดาผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลจะไม่ได้รับเงินที่พวกเขาควรได้คืนตามกำหนด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือนปิดที่ 5.1% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เม.ย. ซึ่งมากกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว
โดยปกติแล้ว พันธบัตรที่มีวันครบกําหนดอายุนานกว่า (Longer Maturity Dates) มักจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อชดเชยการที่รัฐบาลเก็บเงินของนักลงทุนไว้นานกว่าปกติ รวมทั้งยิ่งระยะเวลาการถือครองพันธบัตรนานเท่าใด นักลงทุนก็ยิ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนมากเท่านั้น เพราะสถานการณ์ทางการเงินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร “ระยะสั้น” สูงกว่าพันธบัตร “ระยะยาว” ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณว่า “มรสุมทางเศรษฐกิจ” อาจรออยู่ข้างหน้า
หากอ้างอิงข้อมูลตามเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก บ่งชี้ถึงความวิตกของนักลงทุนที่เห็นได้ชัดเจนผ่านสเปรดของ “อนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้” หรือ CDS แบบ 5 ปีของสหรัฐ โดยสเปรดดังกล่าวขยายตัวแตะระดับ 0.5% ซึ่งในเดือน ม.ค. ขณะที่หนี้สาธารณะของสหรัฐแตะจุดสูงสุด สเปรดของCDSเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 0.35%
เมื่อผู้ถือพันธบัตรซื้อ “CDS” พวกเขาจะได้หลักประกันเงินค้างชำระ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชําระหนี้ ทว่าในกรณีที่โอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ราคา CDS ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้สเปรดของ CDS กว้างมากขึ้น
เทียบกับวิกฤติเพดานหนี้สาธารณะ ปี 2554
ในปี 2554 ความขัดแย้งระหว่างพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกัน ในประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะส่งผลให้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (Standard and Poor’s) หรือ S&P หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือสัญชาติอเมริกัน ลดระดับ “สถานะหนี้สาธาณะ” ของสหรัฐจากระดับ AAA หรือระดับสูงสุด ลงสู่ระดับ AA+
ข้อมูลจาก รีฟินิทีฟ (Refinitiv) บริษัทรวบรวมข้อมูลทางการเงินระดับโลก ระบุว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ค่าใช้จ่ายในการประกันหนี้สหรัฐ (The Cost of Insuring against US Debt) สำหรับระยะเวลา 1 ปี ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 0.63% แต่ยังต่ำกว่าอัตราในปัจจุบันอย่างมาก ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1% เศษ
นอกจากนี้ ในปี 2554 พันธบัตรระยะสั้นให้ผลตอบแทน “ต่ำกว่า” ระยะยาวอย่างมาก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 เดือน ให้ผลตอบแทนสูงสุดราว 1.1% ก่อนที่ในเดือน ส.ค. 2554 ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐจะบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ (ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.1%)
น่าสนใจว่า ในระหว่างการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงครั้งนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ระบุว่า “ปรากฏการณ์ในปี 2554 แตกต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง”
อย่างไรก็ดี ตลาดสหรัฐให้ความสำคัญกับประเด็นทางเศรษฐกิจอื่นๆ มากกว่าเพียงแนวโน้มที่ว่าสหรัฐจะผิดหรือไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าภาคธนาคารจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยหลังการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในขาขึ้นต่อไป ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์เกรงว่า จะเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ในอนาคต