ยิ่ง "รวย" ยิ่งมีความสุข?! ประเทศที่ GDP สูง คนก็ยิ่งมีความสุขมากจริงหรือ?
ยิ่ง "รวย" ยิ่งมี "ความสุข" จริงไหม? เมื่อนักวิเคราะห์ทางสถิติได้คำนวณพบว่า ในบางประเทศที่มีค่า GDP ต่อหัวประชากรสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย
Key Points:
- ผลวิเคราะห์ทางสถิติเผยว่า มีความสอดคล้องกันระหว่าง "ค่า GDP ต่อหัว" ที่มีเกณฑ์สูงในบางประเทศ ส่งผลให้ประชากรในประเทศมีดัชนีความสุขที่มาขึ้นตามไปด้วย
- ขณะเดียวกันผลการวิเคราะห์นั้นก็ไม่ได้สามารถฟันธงได้ 100% ว่าจะเป็นแบบนั้นในทุกประเทศ เนื่องจากพบมีค่าเบี่ยงเบน ซึ่งชี้ว่ามีบางประเทศแม้จะมีค่า GDP สูง แต่กลับมีค่าดัชนีความสุขน้อยกว่า
- ด้านรายงานดัชนีความสุขจาก World Happiness Report 2023 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์นั้น ก็ยังมีข้อกังขาว่า การวัดผลดัชนีดังกล่าวเป็นเรื่องของนามธรรม ที่ตีความได้หลายแบบ ไม่สามารถตัดสินเป็นคะแนนได้
คำถามที่ว่าเงินทองหรือความร่ำรวยทำให้คนเรามีความสุขได้มากขึ้นหรือไม่? คงเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของมนุษยชาติเสมอมา ตราบเท่าที่โลกของเรายังมีการแลกเปลี่ยนด้วยระบบเงินตราอยู่ แต่ถ้าอยากจะหาคำตอบเรื่องนี้จริงๆ คงต้องใช้การสำรวจเชิงสถิติเข้ามาช่วย
ล่าสุดมีรายงานผลวิเคราะห์ทางสถิติโดย มาร์ติน อาร์มสตรอง จาก Statista ระบุถึงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการมี “รายได้” ต่อหัวประชากร (GDP) ที่สูงขึ้นในแต่ละประเทศ มีความสอดคล้องกับระดับ “ค่าดัชนีความสุข” หรือ World Happiness Index Point (คะแนน 1-10) ของประชากรประเทศนั้นๆ หรือไม่?
โดยเขานำตัวเลขพื้นฐานของข้อมูลทั้งสองชุดดังกล่าว มาวางพล็อตเป็นกราฟเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งแกนด้านหนึ่งคือ คะแนนที่ประเทศต่างๆ ทำได้ในดัชนีความสุขโลกจากรายงานของ World Happiness Report (แกน X ) ส่วนแกนอีกด้านหนึ่งคือ ค่า GDP หรือรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (แกน Y)
- ผลการวิเคราะห์เผย ยิ่งรวยยิ่งมีความสุขแค่ในบางประเทศ
ผลจากการเทียบวัดข้อมูลทั้งสองชุดผ่านกราฟ พบว่ามีหลายๆ ประเทศในโลก มีดัชนีความสุขของประชากรที่สอดคล้องกับค่า GDP จริง โดยมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่สะท้อนว่า ยิ่งประเทศที่มีค่า GDP ต่อหัว (รวย) สูงขึ้นเท่าไร ก็มีแนวโน้มทำให้คะแนนดัชนีความสุขของประชากรยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แบบนั้น 100% ในทุกๆ ประเทศ เนื่องจากมีค่าเบี่ยงเบนและพบค่าผิดปกติบางอย่าง ซึ่งชี้ว่ามีบางประเทศแม้จะมีค่า GDP สูง แต่กลับมีค่าดัชนีความสุขน้อยกว่าอีกประเทศที่มีค่า GDP ต่อหัวต่ำกว่า ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบค่า GDP และค่าดัชนีความสุขในบางประเทศ ดังนี้
- อัฟกานิสถาน : ค่า GDP ต่อหัวไม่ถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำมาก) และมีค่าดัชนีความสุข คือ 1.86 คะแนน (ต่ำที่สุดในโลก)
- ฮ่องกง : ค่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 49,000-50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ค่อนข้างสูง) แต่ค่าดัชนีความสุขกลับอยู่ที่ 5.31 คะแนน (ค่อนข้างต่ำ)
- สหรัฐอเมริกา : ค่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 77,000-78,000 ดอลลาร์สหรัฐ (อยู่ในเกณฑ์สูง) และมีค่าดัชนีความสุขอยู่ที่ 6.89 คะแนน (ค่อนข้างสูง)
- ลักเซมเบิร์ก : ค่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 128,000-130,000 ดอลลาร์สหรัฐ (อยู่ในเกณฑ์สูงมาก-สูงกว่าฟินแลนด์) ส่วนค่าดัชนีความสุขอยู่ที่ 7.23 คะแนน (สูงกว่าสหรัฐ แต่ต่ำว่าฟินแลนด์)
- ฟินแลนด์ : ค่า GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 50,000-51,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับฮ่องกง แต่ต่ำกว่าสหรัฐและลักเซมเบิร์ก) แต่คะแนนดัชนีความสุขกลับพบว่าอยู่ที่ 7.80 คะแนน (สูงที่สุดในโลก)
*หมายเหตุ : ความสัมพันธ์ทางสถิติข้างต้นคำนวณได้เท่ากับ 0.69 ซึ่งหมายถึง ชุดข้อมูลทั้งสองชุดมีความสอดคล้องกันสูง โดยมีค่ามาตรฐานคือ ถ้าคำนวณได้ 1 จะแปลว่ามีความสอดคล้องกัน 100%
- "ความสุข" อาจวัดเป็นคะแนนไม่ได้ และเทียบวัดจากความรวยก็ไม่ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่มีคะแนนดัชนีความสุขที่ค่อนข้างสูงเหมือนกัน แม้จะมีค่า GDP ต่อหัวต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐก็ตาม จึงสรุปได้ว่า “ยิ่งรวย ก็ยิ่งมีความสุข” นั้น มีความเป็นไปได้จริงในบางประเทศ แต่อาจจะไม่จริง 100% ในทุกประเทศ คาดว่ายังต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ควรนำมาพิจารณาประกอบเพื่อหาคำตอบในเชิงลึกต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการรายงาน World Happiness Index 2023 (พิจารณาจากค่าเฉลี่ย 3 ปีตั้งแต่ปี 2563-2565) ที่เผยแพร่ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น มีนักวิชาการต่างประเทศหลายภาคส่วน ออกมาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า การวัดผลดัชนีดังกล่าวมีปัญหาด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ ความหมายของคำว่า “ความสุข” เป็นนามธรรมที่ตีความได้หลายแบบ ไม่สามารถวัดผลเป็นคะแนนได้
ยกตัวอย่างเช่น ผลการจัดอันดับที่ให้ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ควรเปลี่ยนมาใช้คำว่า “มีความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุดในโลก” แทน น่าจะถูกต้องกว่า
ประการต่อมาคือ วิธีวัดผลของความสุขยังมีการใช้เกณฑ์การพิจารณาที่ไม่รัดกุม ยกตัวอย่างเช่น หากใช้เกณฑ์การพิจารณาจาก “จำนวนอารมณ์เชิงบวกของผู้คน” จะพบว่าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกคือ ปารากวัยและกัวเตมาลา และถ้าใช้เกณฑ์การพิจารณาจาก “พลเมืองมีประสบการณ์ชีวิตที่มีความหมาย” จะพบว่าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกคือ แอฟริกา โตโก และเซเนกัล เป็นต้น
-------------------------------------
อ้างอิง : Statista, World Happiness Report 2023, Weforum.org