โอกาสลงทุนพลิกชีวิตตำรับ VI เมื่อหุ้นดี-ราคาถูกเกลื่อนเมือง
ภาพแห่งความสนุกสนานจากเทศกาลสงกรานต์กลับมาให้เห็นกันอีกครั้งแล้วในปี 2566 นี้ หลังจากที่เราห่างหายจากบรรยากาศเหล่านี้ไปนานถึง 3 ปีเพราะฤทธิ์ของโควิด 19
เราเห็นไฟลท์บินจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งหน้าสู่ประเทศไทยพร้อมลุยในเทศกาล Water Fight ตามที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกล่าวขานกัน "การเล่นน้ำสงกรานต์"ในปีนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ว่า เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ 100% แล้ว ทั้งยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจและตลาดการลงทุน ที่เริ่มเข้าจุดสตาร์ทสู่การฟื้นตัวอีกครั้ง
ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าตลาดหุ้นจะกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ สำหรับนักลงทุนสาย VI (Value Investor) ที่เน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดีในระยะยาว อาจปิดประตูขาดทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้าเลยก็ว่าได้
ถามเอาความมั่นใจมาจากไหน.. วันนี้มีคำตอบจาก "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" CEO Jitta Wealth (จิตตะ เวลธ์) บอกว่าเอามาจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล อย่างน้อยๆ ก็ย้อนหลังไป 10 ปี
Passive investment
วันนี้ผมจะมาชวนคุยเรื่อง Passive investment ซึ่งความหมายโดยสรุปก็คือ การใส่เงินลงทุนลงไปในสินทรัพย์อะไรก็แล้วแต่ แล้วปล่อยให้เงินทำงานแทนเรา โดยเราไม่ต้องทำอะไรกับเงินก้อนนั้นเลย แค่รอรับผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ก็คือ Passive income ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยและเข้าใจคำว่า Passive income กันเป็นอย่างดีนะครับ แต่น้อยคนที่จะพูดถึง Passive investment ซึ่งเป็นที่มาของ Passive income ดังนั้น เราค่อยๆ มาทำความเข้าใจกันนะครับ
Passive investment คือ การลงทุนแบบใช้ ‘เงินต่อเงิน’ โดยเป็นการต่อยอดลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อนำพาเราไปสู่ ‘อิสรภาพทางการเงิน’ หรือปลดเกษียณตัวเองจากการทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงคุณต้องมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายแม้ไม้ได้ทำงานแล้ว
เช่น หากคุณมีภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่คุณสามารถสร้างรายได้จาก Passive investment ได้เดือนละ 40,000-50,000 บาท แสดงว่าคุณเอาอยู่ สามารถจบการหาเงินจากการทำงานลงได้จริงๆ แม้การสร้างอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงแต่คุณต้องมีการวางแผนทางการเงิน และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้ไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ
แล้ว Passive investment สามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง โดยพื้นฐานแล้วก็จะมีสินทรัพย์หลักๆ อยู่ 4 ประเภท ได้แก่ หุ้น พันธบัตร เงินสด และทองคำ ซึ่งผลตอบแทนในสินทรัพย์แต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยง หรือตามหลักการ high risk high return นั่นเอง
จากสถิติการลงทุนในสินทรัพย์ทั้ง 4 ประเภท ในระยะเวลาที่เท่ากันคือประมาณ 40 ปีย้อนหลัง ด้วยจำนวนเงินลงทุนเท่าๆ กันที่ 1,000 บาท พบว่า เงินลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 59,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 60 เท่า ส่วนการลงทุนในพันธบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 บาท หรือกว่า 20 เท่า การลงทุนในเงินสดเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาท หรือ 10 เท่า และการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 บาท หรือ 8 เท่า
จริงๆ แล้ว เราสามารถลงทุนแบบ Passive investment ได้ด้วยตัวเอง และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ด้วย เพียงแต่คุณต้องมีเวลาในการศึกษาข้อมูลอย่างแท้จริง มีความพยายามที่จะเรียนรู้ มีวินัยการลงทุน มีความอดทนและให้เวลากับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งถ้าคุณอยู่ในข่ายนี้คุณก็คือนักลงทุนสาย VI นั่นเอง
Passive investment ฉบับอินเตอร์
หนังสือขายดีอย่าง Money Master ได้รวบรวมแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก ซึ่งแต่ละคนมีรูปแบบการลงทุนที่คล้ายๆ กันคือ การลงทุนใน Index fund + DCA เช่นเดียวกับหนังสือขายดีอีกเล่ม The Millionaire Next Door ที่บอกเล่าถึงรูปแบบการลงทุนใน Index fund ของนักลงทุนกลุ่มมั่งคั่ง เป็นเวลา 20-40 ปี จนทำให้พวกเขาทั้งหมดกลายเป็นเศรษฐีก่อนเกษียณ
หรือนักลงทุนอีกกลุ่มที่มีรูปแบบการลงทุนแบบดุดันคือ FIRE movement ย่อมาจาก Financial Independence Retire Early movement ใช้นิยามถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงินเร็ว มีการวางแผนการออมและการลงทุนอย่างเข้มข้นกว่าคนทั่วไปมาก โดยแบ่งสัดส่วนเงินออมและเงินลงทุนไว้สูงถึง 50-70% ของรายได้ เทียบกับหลักการออมปกติที่ 10-15% โดยกลุ่ม FIRE จะเน้นลงทุนใน Index fund S&P500 ลงทุนไปเรื่อยๆ 20, 30, 40 ปี หรือจนเกษียณ
นอกจากแนวทางลงทุนดุดันแบบไม่เกรงใจใครแล้ว นักลงทุนกลุ่ม FIRE ยังใช้หลักการ Reinvestment ชนิดเข้มข้นอีกด้วย คือ จะไม่นำเงินปันผลออกมาใช้เลย แต่จะนำไปลงทุนต่อเรื่อยๆ ตามทฤษฎีการเลี้ยงไก่ เมื่อออกไข่ก็รอให้ฟักเป็นตัว เพื่อให้ไก่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถหยุดงานประจำและใช้ชีวิตตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ ได้ก่อนวัยเกษียณแบบปกติ โดยคนกลุ่มนี้จะใช้ชีวิตและทำงานเพื่อทุ่มเทให้กับการออมและการลงทุนขั้นสูง เพื่อเป้าหมายเกษียณอายุได้เร็วกว่าการเก็บเงินและแผนเกษียณอายุแบบเดิมๆ เพื่อให้เกษียณได้ในช่วงอายุ 30 หรือ 40 ปี
Passive investment ขั้นเทพแบบไทย
มาดูตลาดหุ้นไทยกันบ้างครับ ผมจะพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปเมื่อ 42 ปีก่อน ระหว่างปี 2518-2560 ก่อนยุค Y2K ที่กลับมาฮิตกันในตอนนี้ หากคุณลงทุนแบบ Passive investment ซึ่งลงทุนในหุ้นทุกตัวทั้งตลาด โดยใส่เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และนำเงินปันผลกลับมาลงทุนใหม่ นอกจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมอีกเลยตลอดระยะเวลา 42 ปี สิ่งที่ได้ก็คือเงินลงทุนของคุณจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.24 ล้านบาท หรือได้รับผลตอบแทนแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 11.87%
ถ้าคุณศึกษาเรื่องการเงินการลงทุนอย่างจริงจัง ก็จะเข้าใจว่าการสร้างผลตอบแทนไม่ได้ยากและซับซ้อนอย่างที่คิด โดยทั่วไปแล้วคนเราย่อมเจอกับเกมชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่เกมการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และหนทางหนึ่งที่จะทำให้เราชนะเกมการเงินได้คือ Passive investment ยิ่งคุณมีเวลาลงทุนระยะยาวเท่าไหร่คุณย่อมมีโอกาสชนะในเกมนี้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะจากผลตอบแทนทบต้น
โดยพื้นฐานการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นเป็นเวลา 10 ปี เราจะเจอช่วงที่ขาดทุนประมาณ 3-4 ปี และกำไร 6-7 ปี ด้วยทฤษฎีผลตอบแทนทบต้นไม่ว่าคุณจะขาดทุน 3 ปีติด หรือกำไร 4 ปีติด แต่คุณจะทำกำไรได้ในที่สุด หากลงทุนต่อเนื่องระยะยาว 10 ปี หรือเรียกว่า ‘ปิดประตูขาดทุน’ ไปได้เลย
มาดูอีกหนึ่งสถิติ ที่จะทำให้คุณเชื่อมั่นในการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ในช่วง 42 ปีของตลาดหุ้นไทย มีช่วงที่หุ้นขึ้นถึง 27 ปี แต่ช่วงที่หุ้นลงมีเพียง 16 ปี โดยช่วงที่ตลาดลงเกิน 20% มีประมาณ 6 ปี แต่บวกเกิน 20% มีมากถึง 18 ปี ซึ่งการขึ้นหรือลงของแต่ละช่วงอาจกินเวลาต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 ปี ดังนั้น ถ้าคุณเป็นนักลงทุนระยะยาว คุณอาจต้องอดทนกับช่วงที่หุ้นลงมากๆ แค่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ปี และสิ่งที่ควรทำคือ ‘ทำใจให้สบาย’ หรือถ้ามีเงินเหลือก็อาจลงทุนพิ่มได้ในจังหวะที่ราคาลดลงมากๆ หรือวิธีที่ดีกว่านี้คือ การทำ DCA (Dollar Cost Avergage) คือ ลงทุนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในทุกๆ ปี และด้วยวิธี DCA คุณจะยิ่งได้เห็นพลังของผลตอบแทนทบต้น
มหัศจรรย์ตัวเลขจาก DCA
ผมจะพาคุณมาดูความมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้น จากตุ๊กตาลงทุนตัวเดิม
> ลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท + Reinvestment (จากเงินปันผล) เวลา 42 ปี = 1.24 ล้านบาท
> ลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท + Reinvestment + DCA 10,000 บาท/ปี เวลา 42 ปี = 10 ล้านบาท
ในทางกลับกัน หากคุณไม่ทำ DCA แต่รอจังหวะตลาดลงมา คุณก็จะได้เห็นความมหัศจรรย์ของตัวเลขเช่นกัน
> ลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท + Reinvestment + ซื้อเพิ่มเมื่อหุ้นตก เวลา 42 ปี = 8 ล้านบาท
> ลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท + Reinvestment + ซื้อเพิ่มเมื่อหุ้นตก 20% เวลา 42 ปี = 6 ล้านบาท
> ลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท + Reinvestment + ซื้อเพิ่มเมื่อเกิดวิกฤติการเงิน เวลา 42 ปี = 3 ล้านบาท
ตรงนี้ขอดอกจัน* ไว้เลยนะครับว่า ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เราเจอวิกฤติการเงินแค่ 2 ครั้ง คือ ต้มยำกุ้ง และ Hamburger Crisis
จากตัวเลขสถิติจริง ผลที่ออกมาจากการทำ DCA ทุกปีอาจตรงข้ามกับความรู้สึกของหลายๆ คน โดยคนส่วนใหญ่จะถือเงินสดไว้แล้วรอซื้อตอนหุ้นลงมากๆ เพราะเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วยจำนวนเงินลงทุนที่น้อยกว่า แต่หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าพฤติกรรมการลงทุนแบบนี้ จะทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือ Opportunity cost ขึ้น
ยกตัวอย่าง กรณีที่หุ้นตกลงมาเรื่อยๆ ปีละ 10% ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปี แต่เราไม่ได้ทำ DCA แต่มาซื้อทีเดียวเมื่อหุ้นตก 20% นั่นหมายความว่าตอนหุ้นลง 30% เราไม่ได้ซื้อ แต่ซื้อตอนลง 20% สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Opportunity cost และเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยากมากว่าหุ้นจะตกแรงๆ ตอนไหน ที่สำคัญเมื่อหุ้นลงทรุดตัวลงฮวบฮาบ ถึงตอนนั้นคุณกล้าซื้อหรือไม่ นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ‘เรื่องการเงินที่แท้จริงอาจตรงข้ามกับความรู้สึก’
เมื่อโอกาสทองของการลงทุนมาถึงแล้ว อย่าปล่อยให้หลุดลอยไปนะครับ เพราะหุ้นดี-ราคาถูกในรอบนี้อาจพลิกชีวิตการลงทุนของใครหลายคนก็เป็นได้ และอาจเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นการต่อยอดพอร์ตลงทุน เพื่อให้คุณเดินหน้าสู่เส้นทาง Passive investment ได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น