ถอดรหัสถ้อยแถลง‘พาวเวล’ ประตู‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ยังไม่ปิด
ตลาดคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดยังไม่จบรอบขาขึ้น หลัง “พาวเวล” ระบุชัดยังต้องคุมเข้มนโยบายการเงินหากจำเป็น เชื่ออาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย. ด้าน
การประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee : FOMC) ล่าสุด เฟดมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
ซึ่งถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันขึ้นไปอยู่ที่ 5-5.25%
โดย ความเห็นของ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ค่อนไปในทางสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนมิ.ย.นี้
โดยหลังจากการแถลงข่าว ราคาหุ้นสหรัฐปรับตัวผันผวน โดยดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวลงหลังนายพาวเวลเสร็จสิ้นการแถลงข่าว
นายพาวเวลระบุว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายอย่างมาก และการคุมเข้มนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลากว่าจะส่งผลกระทบอย่างเต็มที่ และเมื่อพิจารณาจากมุมมองของเฟดที่ว่า เงินเฟ้อจะต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะปรับลดลงนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงยังไม่เหมาะสม
นายพาวเวล บ่งชี้ว่า ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งนี้ กรรมการเฟดบางรายพูดถึงการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เฟดก็ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งนี้
แถลงการณ์ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ระบุว่า คณะกรรมการฯ จะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดอย่างใกล้ชิด และจะประเมินผลกระทบที่มีต่อนโยบายการเงิน โดยคณะกรรมการฯ ได้ตัดข้อความที่เคยระบุไว้ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะยังคงดำเนินต่อไป
นายพาวเวล กล่าวต่อว่า นับจากนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งโดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
อาทิ วิกฤตธนาคาร, เงินเฟ้อที่ระดับสูง และปัญหาเพดานหนี้ และวิกฤตธนาคารที่ตลาดมีความวิตกอย่างมากนั้น ประธานเฟดกล่าวว่า สถานการณ์ของภาคธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นโดยรวม
แต่ยังคงไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับขอบเขตของผลกระทบ ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น และการที่เจพีมอร์แกน เชสเข้าซื้อกิจการของเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์นั้น เป็นเรื่องที่ดี แต่ผมไม่ต้องการให้ธนาคารขนาดใหญ่ทำการซื้อกิจการขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลธนาคารขนาดใหญ่มากขึ้น
ส่วนประเด็นความเสี่ยงด้านเพดานหนี้ นายพาวเวลบ่งชี้ว่า หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงเรื่องเพดานหนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีความไม่แน่นอนในระดับสูง และการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้พิจารณาถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเพดานหนี้ เขาเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐแทบไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และหากเข้าสู่ภาวะดังกล่าว ก็จะเป็นการถดถอยที่ไม่รุนแรง
ด้านตลาดแรงงาน ตลาดแรงงานสหรัฐในปัจจุบันยังคงตึงตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานกำลังกลับสู่สมดุลที่ดีขึ้น และเขาเน้นย้ำว่าการเติบโตของค่าจ้างได้แสดงสัญญาณชะลอตัว
นายเจฟฟรีย์ กุนด์ลาช ผู้ก่อตั้งบริษัทดับเบิลไลน์ แคปิตอลซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนของสหรัฐแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจของเฟดไม่ได้เป็นการให้คำมั่นว่าจะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับนี้
โดยมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจจะถดถอย ดังนั้นนายกุนด์ลาชจึงคาดว่า เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ทั้งนี้ เอฟโอเอ็มซี มีมติเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันพุธ (3 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนึ้ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 10 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว มีขึ้นหลังจากเอฟโอเอ็มซีมีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเมื่อเดือน มี.ค. 2566
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.25% ถือว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาดขณะที่บรรดานักวิเคราะห์และเทรดเดอร์ในวอลล์สตรีทต่างจับตาใกล้ชิดมากขึ้นว่า หลังจากนี้ เฟดจะดำเนินการด้านดอกเบี้ยอย่างไรต่อไป ท่ามกลางกระแสความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะวิกฤติธนาคารของสหรัฐที่ยังคงอยู่