เปิดสาเหตุทำไมเงินเฟ้อสหรัฐ ‘ทุบไม่ลง’ แม้กระแสข่าว ‘รีเซสชั่น’ รุนแรง

เปิดสาเหตุทำไมเงินเฟ้อสหรัฐ ‘ทุบไม่ลง’ แม้กระแสข่าว ‘รีเซสชั่น’ รุนแรง

ส่องไส้ใน “ดัชนีราคาผู้บริโภค” เดือนเม.ย. ว่าบ่งบอกถึงอะไร แล้วเหตุใดทำไมเงินเฟ้อสหรัฐ “ยังทุบไม่ลง” พร้อมมองท่าทีการดำเนินนโยบายทางการเงินของเฟดตลอด 1 ปีต่อจากนี้

Key Points

  • CPI ประจำเดือนเม.ย ของสหรัฐ ซึ่งไม่รวมหมวดอาหาร และพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.9%
  •  เงินเฟ้อภาคบริการคือ ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไม่ลง
  • สหรัฐเข้าสู่สภาวะ “Earning Recession” แล้ว
  • ตราสารหนี้ได้อานิสงส์จากรีเซสชั่นก่อนตลาดหุ้น

เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ค.2566 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของประชาชน ประจำเดือนเม.ย. ที่ไม่รวมหมวดอาหาร และพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับแบบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนัก ประเมินว่าอาจอยู่ในระดับ 5.0% ทว่านักวิเคราะห์จำนวนมากก็ยังมองว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ดี 

สาเหตุที่เงินเฟ้อยังไม่ลด

เปิดสาเหตุทำไมเงินเฟ้อสหรัฐ ‘ทุบไม่ลง’ แม้กระแสข่าว ‘รีเซสชั่น’ รุนแรง

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า เงินเฟ้อในภาคบริการ (แท่งสีฟ้า) ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและพลังงาน ซึ่งอยู่ที่ 3.89% เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงช้า น่าสนใจว่า หากพิจารณาลึกเข้าไปในภาคบริการ “เงินเฟ้อจากค่าเช่า” ยังคงปรับตัวเป็นบวกแต่มีแนวโน้มลดลง 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่ทำให้ ภาพรวมเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. ไม่พุ่งสูงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เพราะเงินเฟ้อจากภาคพลังงาน (แท่งสีส้ม) ที่ติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จนกระทั่งเงินเฟ้อในด้านการเดินทาง และคมนาคมเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งถือว่าเงินเฟ้อในภาคส่วนนี้เป็นตัวพยุงซีพีไอไว้ไม่ให้พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้ตัวเลขดัชนีซีพีไอล่าสุดยังไม่ลดลงมากนัก นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในภาคบริการนั้นรวมถึง ตัวเลข “เงินเฟ้อจากค่าเช่า” ที่ยังคงสูงอยู่เพราะมักอ้างอิงอัตราค่าที่อยู่อาศัยตามสัญญาเช่า-ซื้อ อย่างต่ำ 1 ปีขึ้นไป

ดังนั้นเงินเฟ้อในภาคส่วนนี้จึงยังไม่สามารถปรับตัวลดลงอย่างฉับพลันได้ ต้องรอให้หมดสัญญา แล้วราคาจึงจะปรับตัวลดลง หรือปรับตัวขึ้นหรือลงตามแนวโน้มของอัตราค่าจ้างงานในสหรัฐ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับสูง นั้นจึงอาจทำให้ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้เงินเฟ้อในภาคส่วนนี้จะยังไม่ลดลง 

ผลกระทบ “ค่าเช่า” จากเงินเฟ้อภาคบริการอยู่ขาลง

อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขเงินเฟ้อในภาคบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับค่าเช่ายังคงปรับตัวสูงขึ้น ทว่า นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นจริง แต่ก็อยู่ในแนวโน้มขาลง ดังนั้นหากพิจารณาจากสถิติในปี 2534 ถึง 2566 หรือประมาณ 32 ปีย้อนหลังจะพบว่า เมื่อราคาบ้านเริ่มลดลง จะทำให้ค่าเช่าในอีก 12-18 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงตามไป ซึ่งจะส่งผลในเชิงลบต่อธุรกิจหรือการลงทุนที่มีรายได้ทางใดทางหนึ่งมาจากการเก็บค่าที่อยู่อาศัยแบบรายเดือน หนึ่งในนั้นคือ “Residential REIT”

คาดการณ์ท่าทีของเฟดในอนาคต

หากประเมินตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. แล้ว จะเห็นว่ามีทั้งเงินเฟ้อของภาคส่วนที่ปรับตัวลดลง ภาคส่วนที่ทรงตัว หรือภาคส่วนที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นผสมกันไป นายกิจพล จึงประเมินว่า

“ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะยังไม่สามารถปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ยได้” 

โดยหากอ้างอิงตามประมาณการของยูโอบี หลังจากการประชุมเฟด อีกครั้งในวันที่ 13-14 มิ.ย. 2566 มีแนวโน้มสูงมากที่เฟดจะตึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมจนถึงสิ้นปี แล้วจึงเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยปีหน้า

“สถานการณ์ในตอนนี้เป็นเหมือนหนังม้วนยาว อัตราเฟ้อในระดับ 2% อย่างที่เฟดต้องการไม่ได้เป็นไปได้ง่ายๆ ตราบใดที่เงินเฟ้อในภาคบริการยังแข็งแกร่ง ซึ่งปัจจุบันก็มีบางกระแสบอกว่า อาจจะแตะ 2% ได้ในปี 2568”

สหรัฐเข้าสู่ภาวะ “Earning Recession” แล้ว

เปิดสาเหตุทำไมเงินเฟ้อสหรัฐ ‘ทุบไม่ลง’ แม้กระแสข่าว ‘รีเซสชั่น’ รุนแรง

แม้นักวิเคราะห์หลายสำนักจะเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงมาก ทว่าหลายท่านยังเสียงแตกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด บ้างมองว่าไตรมาสนี้ แต่บ้างก็มองว่าอาจเกิดขึ้นในปีหน้า ทว่า นายกำพล กล่าวว่า หากอ้างอิงตามตารางด้านบน สหรัฐเข้าสู่สภาวะ “Earning Recession” เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับ Earning Growth สัญญาณชัดแล้วว่าเกิด Earning Recession เพราะพิจารณาจากดัชนี S&P500 และ NASDAQ 100 ที่กำไรหดตัวลงสองไตรมาสติด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ภาพที่เราเห็นคือ รายได้โต แต่กำไร โตติดลบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อัตรากำไร หรือ Profit Margin ก็น่าจะลดลง ทั้งหมดอาจเป็นเพราะแต่ละบริษัทมีต้นทุนเพิ่ม และไม่สามารถตัดค่าใช้จ่ายได้ทัน ทั้งนี้ ผมมองว่า บริษัทไหนที่ไหวทัน ลดต้นทุนได้เร็ว อันนั้นคือ จุดที่ตลาดจะให้รางวัลค่อนข้างเยอะ ที่เห็นได้ชัดคือ กลุ่มเทคโนโลยี”

ทิศทางการลงทุน

ด้าน นายกิจพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เงินเฟ้อตึงตัวหรือปรับตัวลงช้านั้นก็อาจถือว่ามีข้อดีอยู่บ้างในตัวเพราะแปลว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถดถอย และเศรษฐกิจไม่แย่จนกระทั่งประชาชนลดหรืองดการจับจ่ายใช้สอย 

“ถ้าไม่ได้มีเซอร์ไพรส์อะไรในการประชุมของเฟดในเดือน มิ.ย. คือ เฟดยืนยันการตึงดอกเบี้ยเท่าเดิม ผมมองว่าจะเป็นผลดีต่อตลาด และโดยธรรมชาติแล้วเมื่อถึงจุดสูงสุดของเงินเฟ้อ กลุ่มบริโภค และค้าปลีกจะได้รับอานิสงส์อย่างมาก”

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะถดถอยจริงๆ ในปีหน้า สินทรัพย์ที่ได้อานิสงส์จากสภาวะดังกล่าวคือ “ตราสารหนี้” ทั้งนี้ ต้องรอให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4 ครั้งก่อนที่ตลาดหุ้นจึงจะตอบสนองในเชิงบวก

“ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไม่ใช่ไม้แรกที่ได้รับอานิสงส์จากการลดดอกเบี้ย แต่คือตราสารหนี้ครับ”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์