'นอนแบงก์'ยันคุมหนี้เสียได้ มั่นใจ NPLไม่ระเบิด หลังหมดมาตรการอุ้ม
“นอนแบงก์” คาดหมดมาตรการรัฐอุ้มลูกหนี้ช่วงโควิด "เอ็นพีแอล" ทรงตัว หรือปรับขึ้นน้อย “เงินติดล้อ” เชื่อไม่เกิดระเบิดหนี้เสียรุนแรง เหตุเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัด และเตรียมพร้อมรับมือ “เมืองไทยแคปปิตอล” ไร้กังวล เร่งตามหนี้ “เคทีซี” เผย ลูกหนี้ผ่อนต่อได้แม้สิ้นสุดมาตรการ
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 สิ้นสุดในปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีหนี้เสียในระบบปรับตัวสูงขึ้น จากธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และนอนแบงก์ ยอมปล่อยให้ลูกค้าที่ไปต่อไม่ไหวให้เป็นNPL
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือTIDLOR กล่าวว่า หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยพื้นฐานแล้วไม่คิดว่าจะเกิดสถานการณ์ “ระเบิด”ของหนี้เสียที่รุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มนอนแบงก์ เริ่มตระหนัก และเตรียมรับมือด้านต้นทุนการดำเนินธุรกิจแล้ว ทั้งในรูปแบบของการตั้งสำรองหนี้ หรือการตัดหนี้สูญ
ทั้งนี้จะเริ่มเห็นการบริหารจัดการเหล่านี้สะท้อนอยู่ในงบดุล และมองว่าเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว รวมถึงจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่แข็งแกร่งและดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งดูเหมือนจะมีแนวโน้มดีขึ้นตลอดทั้งปี 2566 โดยปัจจัยภาพรวมทางเศรษฐกิจเหล่านี้สะท้อนถึงผลบวก และจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ นอกจากนี้ในกรณีที่มีสัญญาณเชิงลบที่รุนแรงเกิดขึ้น ธปท.ยังสามารถขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อีกด้วย
สำหรับในส่วนของบริษัท เงินติดล้อ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 1.50% ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 1.58% สิ้นปี 2565 ซึ่งบริษัทมีสัดส่วนลูกหนี้ ที่เข้าร่วมมาตรการโครงการช่วยเหลือลูกหนี้โควิดของธปท.ราว 1.0-1.5% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้าง
ขณะที่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน NPL ยังปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565มีมาตรการพักชำระหนี้ช่วงโควิด NPLอยู่ที่1.25% โดยบริษัทยังคงความสามารถในการบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากปัจจัยมหภาค อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ บริษัทยังคงเป้า NPLไว้ไม่เกิน 2%ในปีนี้
"เรายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของสินเชื่อ ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน เราได้ดำเนินนโยบายพิจารณาสินเชื่ออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มที่ดูมีความเสี่ยงสูงและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและ เป็นไปตามกรอบนโยบายความเสี่ยงของเรา"
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า ภาพรวมหลังจบมาตรการของ(ธปท.) ประเมินว่า NPLในตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่บริษัทไม่ได้เป็นกังวลในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเห็นภาพชัดเจนขึ้น อีกทั้งบริษัทมีการปรับตัวในการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น
รวมถึงมุ่งการจัดการหนี้เสีย เร่งการติดตามหนี้จากลูกค้า รวมถึงพิจารณายึดหลักประกัน โดยบริษัทมีการเปิดศูนย์ประมูล เพื่อรองรับหลักประกันที่ยึดมาเพิ่มขึ้นอีก 2 ศูนย์ ที่ จังหวัดร้อยเอ็ด และสุราษฎร์ธานี ในปีนี้ ซึ่งบริษัทคุม NPLไว้ในกรอบไม่เกิน 3.50%
“หลังจบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เรายังมองว่า NPL สำหรับกลุ่มนอนแบงก์ ยังอยู่ในภาพทรงตัว หรือการเพิ่มขึ้นของ NPL คงมีอีกเล็กน้อย เพราะ ในปีที่ผ่านมา NPL ขึ้นมาสูงมากแล้ว แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากปัจจัยต่างๆได้แสดงออกมาหมดแล้ว”
ส่วนสถานการณ์ NPL ของบริษัท ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ช้าลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ 3.17% เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่1.65% ซึ่งบริษัทไม่มียอดลูกหนี้คงค้าง คงเหลือที่เข้ามาตรการโครงการช่วยเหลือลูกหนี้โควิดของธปท.แล้ว
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด - สินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้เคทีซี ในโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว
ปัจจุบันมีลูกค้าเคทีซีอยู่ในโครงการฯ รวม 25,632 ราย ยอดลูกหนี้ มูลค่า 1,425.31 ล้านบาท คิดเป็น 1.6% เมื่อเทียบกับยอดลูกหนี้รวมของพอร์ตทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก โดยปัจจุบันลูกค้ายังสามารถผ่อนชำระคืนเป็นรายงวดต่อไป แม้จะหมดมาตรการช่วยเหลือของธปท.
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 31 มี.ค. 2566 บริษัทมี NPLรวมอยู่ที่ 1.9% โดยที่ NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.8% โดยยังคงรักษาระดับ NPL ภาพรวมของบริษัทในปีนี้ ไม่เกิน 1.8%