อัปเดต 'ภาษีความหวาน' ระยะที่ 3 หวานมากเสียมาก ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ
อัปเดต "ภาษีความหวาน" ระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นแบบ "ขั้นบันได" ทุก 2 ปี ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการต้องปรับแผนรับมือกับภาษีความหวานที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น มีเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับ "ภาษีความหวาน ระยะที่ 3" ที่ผู้ประกอบการควรทราบ
“ภาษีความหวาน” เป็นการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตจากค่าความหวาน (ปริมาณความหวาน) จากผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้นำเข้าเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องดื่มที่มีลักษณะเป็นผง เกล็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้
จุดเริ่มต้นของการเก็บภาษีความหวานนั้น เนื่องจากตามสถิติพบว่าคนไทยป่วย และเสียชีวิตจากการบริโภคความหวานมากเกินความจำเป็นของร่างกาย จนก่อเกิดเป็นโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต สูงถึง 70% ประกอบกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม หรือ 12 ช้อนชาต่อวัน แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ย 100 กรัม/คน/วัน จึงเป็นที่มาของการริเริ่มจัดเก็บภาษีความหวานดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาษีความหวานที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียนั้น จะมีการปรับอัตราเพิ่มขึ้นแบบ "ขั้นบันได" ทุก 2 ปี และถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการต้องปรับแผนรับมือกับภาษีความหวานที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น โดยมีแนวทางปฏิบัติ และเรื่องที่ผู้ประกอบการควรทราบ ดังนี้
- ทำความรู้จักภาษีความหวาน
ภาษีความหวาน เป็นภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บจากค่าความหวาน (ปริมาณความหวาน) ซึ่งอัตราภาษีสรรพาสามิตจากค่าความหวานมี 2 ประเภท คือ
1. อัตราภาษีตามมูลค่า ซึ่งจะคำนวณจากราคาขายปลีกแนะนำ
2. อัตราภาษีตามปริมาณ ซึ่งจะคำนวณตามปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มนั้นๆ
สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลผสมอยู่ค่อนข้างสูง ระหว่าง 9-14 กรัม/100 มิลลิลิตร ซึ่งส่วนใหญ่คือน้ำอัดลม กาแฟ ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น
แน่นอนว่า ยิ่งมีปริมาณความหวานสูง ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีสูงตามอัตราขั้นบันได แบ่งเป็น 3 ระยะ จนถึงปัจจุบัน ดังนี้
ภาษีความหวาน ระยะที่ 1 เก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล บังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 - 30 กันยายน 2562
ภาษีความหวาน ระยะที่ 2 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 มีนาคม 2566 ได้เพิ่มอัตราการเก็บภาษีความหวานต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร ส่วนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม ไม่ได้ปรับขึ้น (หมายเหตุ : มีมติให้คงอัตราภาษีระยะที่ 2 ออกไปอีก โดยมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน)
ภาษีความหวาน ระยะที่ 3 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2568
- อัพเดตอัตราภาษีความหวาน ปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
อัตราภาษีจัดเก็บจากค่าความหวาน ตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงปัจจุบันระยะที่ 3 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้ว มีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นและคงที่แตกต่างกัน ดังนี้
- อัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 1
- ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.1 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.3 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.5 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 1 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 1 บาท/ลิตร
- อัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 2
- ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.1 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.3 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 1 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 3 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 3 บาท/ลิตร
- อัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 (ปัจจุบัน)
- ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 0.3 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 1 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 3 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 5 บาท/ลิตร
- ปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 18 กรัมขึ้นไป คิดอัตราภาษีตามปริมาณความหวาน 5 บาท/ลิตร
- สรุปแนวทางปรับตัวผู้ประกอบการ
จากข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บภาษีความหวานดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าภาษีความหวานระยะที่ 3 หากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมีปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากระยะที่ 2 คือ 1 บาท เป็น 3 บาท และยิ่งปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มมากกว่านี้ ก็จะต้องเสียภาษีความหวานเพิ่มขึ้นอีก จาก 3 บาท เป็น 5 บาท เรียกว่ายิ่งหวานมากยิ่งเสียภาษีมากตามไปด้วย
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรวางแผนภาษีความหวานให้ดี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง โดยสามารถสรุปแนวทางการวางแผนภาษีความหวานได้ดังนี้
- ปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเหมือนเดิม แต่ปรับราคาขายให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยผู้บริโภคทางอ้อมให้ลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลลง เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของราคาที่สูงนั่นเอง
- ปรับสูตรลดปริมาณความหวานในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มให้น้อยลง เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้ และผู้บริโภคก็มีสุขภาพที่ดี
สุดท้ายแล้วไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกวางแผนภาษีความหวานแบบไหน เชื่อว่าจะช่วยให้การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประชาชนตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกิดผล รวมถึงผู้ประกอบการยังได้ลดต้นทุนในกรณีที่ปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง และประหยัดภาษีได้อีกด้วย
----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting