ลงทุนตลาดหุ้นจีน รับผลตอบแทนทั้งขาขึ้นและขาลง
ประเทศจีน อีกหนึ่งธีมการลงทุนที่โดดเด่นในปีนี้ โดยหลังจากที่ประเทศจีนได้ปลดล็อกนโยบาย Zero Covid มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า จีนจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในปีนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูงจนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารและการเติบโตของประเทศ
ซึ่งผลจากการเปิดประเทศตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาส 1 เติบโตถึง 4.5% มากกว่าที่ตลาดคาด แต่ดูเหมือนว่ายังน้อยกว่าที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ที่ 5% ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในเดือน เม.ย. ออกมาที่ 49.2 จุด เริ่มเห็นการหดตัวครั้งแรก นับจากเปิดประเทศเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน รวมถึงความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงเป็นสิ่งที่ติดตามต่อเนื่อง
จากหลากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังกล่าว ทำให้ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นจีนน่าจะเป็นไปในรูปแบบค่อยๆ ปรับตัวขึ้น (Sideway up) และผันผวนตามปัจจัยภายนอก ดังนั้น การลงทุนในกองทุนประเภท complex return fund น่าจะตอบโจทย์การลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากสามารถให้ผลตอบแทนได้ทั้งในสภาวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นและปรับตัวลงได้
สำหรับกองทุนประเภท complex return fund นั้นเป็นการนำข้อดีของสินทรัพย์ทางการเงิน 2 ชนิดมารวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1.ตราสารหนี้ (พันธบัตร/หุ้นกู้คุณภาพดี) และ 2.ตราสารอนุพันธ์ (Warrant/Options)
โดยโครงสร้างของกองทุน complex return fund จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. เงินลงทุนส่วนแรกสัดส่วน 95%-99.9% ใช้เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดทุนเงินต้น (Capital Protection) โดยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลตามอายุกองทุน (1 ปี) เพื่อให้เงินลงทุนเติบโตกลับมาที่ระดับเริ่มต้นที่ 100%
ที่มา: TISCO Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้
2. เงินลงทุนส่วนที่สองราว 0.1%-5% เน้นการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มผ่านตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับดัชนี CSI300 (Xtrackers Harvest CSI300 CHINA A-Share ETF, ASHR) ซึ่งผลตอบแทนจะเคลื่อนไหวไปตามดัชนีดังกล่าว
โดยรูปแบบการลงทุนจะนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนในสัดส่วนอัตราผลตอบแทนร่วม(Participation rate, PR) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากผลตอบแทนดัชนีหลัก รวมถึงมีกรอบความผันผวน(Barrier) อยู่ที่ -20% และ +20% ซึ่งเหตุการณ์ที่ดัชนีเคลื่อนไหวหลุดกรอบดังกล่าวในช่วงระยะเวลา 1 ปีจะเกิดเหตุการณ์ Knock out ซึ่งนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนส่วนชดเชย(Rebate rate) ที่ 0.25%
ที่มา: TISCO Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้
แต่หากภายใน 1 ปี ดัชนีเคลื่อนไหวไม่หลุดจากกรอบดังกล่าวผลตอบแทนจะได้จากอัตราการมีส่วนร่วมคูณด้วยผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง เช่น ถ้าอัตราผลตอบแทนร่วมอยู่ที่ 40% และเมื่อลงทุนครบกำหนด 1 ปี ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 10% ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ที่ 4% (40% x 10%) ในทางกลับกันหากดัชนีปรับตัวลดลง 10% ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ที่ 4% (40% x 10%) เช่นเดียวกัน (คิดผลตอบแทนแบบ Absolute return)
กรณีที่ดัชนีไม่เคลื่อนไหวเลย ผลตอบแทนปกติที่ได้รับจากการลงทุน คือ 0% ขณะที่กองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะให้ผลตอบแทนต่ำสุดที่ 0.25% หากผ่านไป 1 ปี ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ -0.625% / +0.625%
ในแง่ความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ยังคงมีอยู่ และนักลงทุนควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เช่น ความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านคู่สัญญาของผู้ออกตราสาร ความซับซ้อนของตราสารที่ลงทุน
โดยสรุปคือ กองทุน Complex return fund เหมาะกับผู้ที่อยากลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ แต่ยังอยากรับผลตอบแทนจากการเคลื่อนไหวของดัชนี CSI300 และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน แต่ต้องการการลงทุนที่ช่วยรองรับความเสี่ยงหากตลาดหุ้นจีนปรับฐานในในช่วง 1 ปีข้างหน้า ไปพร้อมๆ กับการเปิดโอกาสรับผลตอบแทนในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นด้วย