“อาคม” เผยเวิลด์แบงก์ชื่นชมไทย ใช้นโยบายการคลังเหมาะสม

“อาคม” เผยเวิลด์แบงก์ชื่นชมไทย ใช้นโยบายการคลังเหมาะสม

“อาคม”เผยเวิลด์แบงก์ชื่นชมไทยใช้นโยบายการคลังเหมาะสม ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ ขณะที่ แนะนโยบายหลังโควิดควรเจาะจงช่วยกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงรายงานของธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ในเรื่องการประเมินรายได้ และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทยว่า ธนาคารโลกระบุว่าการใช้นโยบายการคลังของไทยในช่วงก่อนโควิด ถือว่าเป็นการใช้นโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล หรือPrudent policy ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ไทยได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้รวมสองฉบับ เป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ไม่ได้สูงที่สุดในโลก เพื่อนำมาช่วยเหลือภาคธุรกิจ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  ซึ่งหากรัฐบาลไม่ออกมาช่วยเหลืออาจทำให้ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยอาจติดลบมากกว่า 6%

สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ถือว่ามี การฟื้นตัวหลังโควิดเป็นประเทศแรกๆ ในโลก แต่อาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นมาก แต่เป็นการค่อยๆ ฟื้นตัว โดยในปี 2265 เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของรัฐบาลดีขึ้น กว่าช่วงปี 2563-2564 ที่รายได้ไม่เข้าเป้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวจากผลของโควิด

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำประเทศไทยว่า การใช้นโยบายการคลังในระยะต่อไปนี้ ควรเป็นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ควรเป็นนโยบายการคลังแบบเหวี่ยงแห เนื่องจากรัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในหลายๆ เรื่อง 

ในเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐนั้น ธนาคารโลก อยากให้รัฐบาลไทยมุ่งไปที่การแพทย์ สาธารณสุข เพราะเราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าในอนาคตเราจะเจอโรคระบาดอีกหรือไม่ กับในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจคือ ในเรื่องของคุณภาพแรงงาน ซึ่งเราก็ทำในเรื่องของ up skill และ reskill เพราะแรงงานทั้งหมด จะต้องมีการฝึกอบรมกันใหม่ เพราะในโลกดิจิทัลนั้นโรงงานต้องมีการปรับตัวกันมากกับในเรื่องของการศึกษา ที่ต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของเราเรื่องที่สาม เรื่องการมองเรื่อง Sustainable development คือ ในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์