เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวต่อเนื่อง หวั่น GDP ปีนี้ต่ำคาด เหตุภาคอสังหาฯ ทรุดหนัก

เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวต่อเนื่อง หวั่น GDP ปีนี้ต่ำคาด เหตุภาคอสังหาฯ ทรุดหนัก

"เศรษฐกิจจีน" ชะลอตัวหนัก จนนักวิเคราะห์หวั่น “จีดีพี” ปี 2566 อาจไม่สูงตามที่หลายสถาบันคาด เหตุภาคอสังหาฯ ย่อตัวหนัก โดย "ยอดขายบ้าน" เดือนพ.ค. ฮวบดิ่ง 14.3%  

Key Points

  • เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และอาจไม่โตแบบก้าวกระโดดตามคาด
  • บรรดานักวิเคราะห์กลับลำ ประเมิน จีดีพี ปี 2566 อาจโตอยู่แค่ที่ทางการจีนคาดที่ราว 5%
  • ยอดขายบ้านของจีน เดือนพ.ค. ฮวบดิ่ง 14.3% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.

ตัวเลขเศรษฐกิจใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตชุดล่าสุดของจีนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งประเทศอยู่ท่ามกลางสภาวะ เศรษฐกิจ ที่ซบเซา จนอาจบั่นทอนความหวังที่ “เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อันดับสองของโลก” จะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดหลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 (Covid-19)

เศรษฐกิจจีนเดือน พ.ค. อ่อนแอต่อเนื่อง

จากข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า แม้ รัฐบาลกลางปักกิ่ง พยายามออกนโยบายจำนวนมากเพื่อพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ ทว่าตัวเลขการเติบโตของภาคส่วนดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างอ่อนแอ 

โดย มูลค่าการขายบ้านใหม่ ในเดือนพ.ค. จากผู้พัฒนารายใหญ่ที่สุด 100 บริษัท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 6.7%  อยู่ในระดับ 485.4 พันล้านหยวน หรือ 6.83 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ 2 เดือนก่อนหน้านี้ มีปรับตัวสูงขึ้นถึง 29% ทั้งนี้ ยอดขายบ้านของเดือนพ.ค. ในจีน ร่วงลงถึง 14.3% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.

ด้าน คริสตี ฮุง (Kristy Hung) และฉาง ซู (Chang Shu) นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ (Bloomberg Intelligence) ระบุในรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ภาพที่เรามองไว้ตั้งแต่แรกคือ สภาวะถดถอย (Regression)” พร้อมกล่าวต่อว่า “แต่ถ้ามีสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวคงที่มากกว่านี้ เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไปได้เรื่อยๆ เรียบๆ”

นอกจากนี้ ตลาด อสังหาริมทรัพย์ของจีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ โดยขณะนี้ภาคส่วนดังกล่าวอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจาก “จุดตกต่ำ” ที่ไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้นานหลายปี 

สอดคล้องกับสถิติของทางการที่เผยว่า ตัวเลขการเติบโตของภาค การผลิตในอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. หดตัวรุนแรงกว่าเดือนเม.ย. อย่างมาก รวมทั้งการขยายตัวของภาคบริการก็ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า ตัวเลข ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวานนี้ ชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาคเอกชนลดต่ำลง และหนุนฉากทัศน์ของธนาคารกลางจีน (PBOC) สำหรับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ความต้องการ “สัดส่วนสินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องถือไว้โดยห้ามนำไปปล่อยสินเชื่อ” หรือ Reserve Requirements ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ลดลง และอาจเป็นเส้นทางหนึ่งไปสู่การผ่อนคลายสภาวะตลาด แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากเกินไป”

ด้านแหล่งข่าววงในของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายอาจพิจารณาออกมาตรการจูงใจทางภาษีมูลค่าหลายแสนล้านหยวน เพื่อกระตุ้นภาคการผลิต

จากข้อมูลทั้งหมด เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนอ่อนแอกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ โควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) โดยหลายภาคส่วนต่างปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น แก้ว เยื่อกระดาษ แป้งข้าวโพด และสไตรีน ล้วนเผชิญกับความต้องการซื้อที่ลดลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วน เตือนว่า อย่างประเมินจีนแบบใกล้ชิดจนเกินไป เพราะมาตรวัดที่ออกมาแบบ “ประเดี๋ยวประด๋าว” ไม่สามารถแสดงถึงผลลัพธ์ในระยะยาวได้

นิโคลัส ลาร์ดี (Nicholas Lardy) นักวิเคราะห์จาก สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (Peterson Institute) กล่าวว่า 

“ผมรู้สึกเศร้าแทนผู้คนเหล่านั้นนะบางที เพราะทุกครั้งที่ทางการจีนปล่อยตัวเลขอะไรออกมา [บรรดาผู้รู้จากวอลล์ สตรีท]จำเป็นต้องออกมาพูดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ”

ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนอาจขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มากกว่า 6% ทว่าหลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายชุดออกมาส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักปรับประมาณการว่า จีดีพีจีนอาจโตอยู่เพียง 5% ตามที่ทางการจีนประเมินไว้ตั้งแต่ต้น 

 

อ้างอิง

1. Bloomberg 

2. Insider 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์