คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม “ซื้อบ้าน” ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม “ซื้อบ้าน” ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

คู่รัก LGBTQ+ กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้หรือไม่ “ทีทีบี” ชี้ กู้คู่รัก LGBTQ+ กู้บ้านร่วมกันได้ แต่ต้องมีเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ หรือเอกสารการอยู่ร่วมกัน พร้อมเอกสารทางการเงินแค่นี้ก็กู้บ้านได้

      “บ้าน” ไม่ได้เป็นแค่เพียงพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นพื้นที่พักกายใจ ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน และเป็นเซฟโซนของคนที่อยู่ในบ้านนั้น ๆ การมีบ้านที่เป็นเซฟโซนของตัวเอง ก็ถือเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คนด้วยเช่นกัน 
       สำหรับคู่รักที่คบหาดูใจกันมาพอสมควร และเริ่มมองหาบ้านที่จะใช้ลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัวด้วยกัน คงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเป็นคู่รักที่เป็น “เพศเดียวกัน” หรือเพื่อนกัน จะสามารถซื้อบ้านด้วยกันได้หรือไม่ ?” 

        ล่าสุด ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) มีการไขกระจ่าง เรื่องนี้ ผ่านบทความ “เรื่องน่ารู้ สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ก่อนวางแผนซื้อบ้านและสร้างอนาคตร่วมกัน”

        โดยบทความระบุว่า ก่อนหน้านี้การซื้อบ้านร่วมกัน จะมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นคู่สมรส บุตร บิดา มารดา หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน รวมถึงคู่สมรสไม่จดทะเบียน และญาติ จึงจะเข้าเงื่อนไขที่สามารถซื้อบ้านร่วมกันได้เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน หลาย ๆ ธนาคารก็เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีบ้านเป็นของตัวเองมากขึ้น
 

  • ยังไม่ได้แต่งงานกัน สามารถซื้อบ้านร่วมกันได้หรือไม่ ?

       คำตอบคือ ได้ โดยการกู้ร่วม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาสินเชื่อของแต่ละธนาคารอีกที และควรคิดให้ดีเผื่อในกรณีที่เลิกกันภายหลังด้วย

  • เป็นเพศเดียวกัน หรือเพี่อนกัน สามารถซื้อบ้านร่วมกันได้หรือไม่ ?

      คำตอบคือ ได้เช่นกัน เพราะการมีบ้านเป็นของตัวเองไม่ได้จำกัดแค่เพศชาย-หญิงเท่านั้น เพียงแต่ต้องมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือเอกสารการอยู่ร่วมกัน และก็ไม่ใช่ทุกธนาคารที่ให้สินเชื่อคู่รักกลุ่มนี้สามารถซื้อบ้านร่วมกันได้ ต้องสอบถามรายละเอียดเงื่อนไขของสินเชื่อแต่ละธนาคารอีกทีด้วย

เอกสารที่ใช้ในการซื้อบ้าน เงื่อนไขการซื้อบ้านร่วมกัน ของเพศเดียวกัน หรือเพื่อนกัน

 

คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม “ซื้อบ้าน” ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

       เอกสารข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของทั้ง 2 คน
เอกสารแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน, สำเนาสลิปเงินเดือนล่าสุด, สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
       เอกสารทางด้านหลักประกัน เช่น สำเนาสัญญาจะซื้อจะขายของบ้านหรือคอนโดที่จะซื้อร่วมกัน
เอกสารการอยู่ร่วมกัน เช่น บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน, ภาพถ่ายงานแต่งงาน, บิลค่าใช้จ่ายที่ระบุที่อยู่เดียวกัน หรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งจดทะเบียนบริษัทร่วมกัน แต่ละธนาคารอาจมีการขอเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ

คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม “ซื้อบ้าน” ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?

9 ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมก่อนซื้อบ้าน มีอะไรบ้าง?

     ซึ่งก่อนที่จะซื้อบ้านนั้น เราต้องมีการศึกษาค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินความสามารถในการจะมีบ้าน 1 หลังกันก่อน เพราะการซื้อบ้านไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

     1. ค่าจองและค่าทำสัญญา
ถือเป็นค่าใช้จ่ายแรกที่เราต้องจ่าย เมื่อเจอบ้านที่ถูกใจเลยก็ว่าได้ โดยผู้ขายจะให้จ่ายเงินค่าจองเอาไว้ก่อน มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับโปรโมชันในช่วงนั้น ๆ ต่อจากนั้นก็จะเป็นเงินค่าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ของบ้านที่เราทำการจองเอาไว้ ซึ่งควรอ่านและศึกษารายละเอียดของสัญญาก่อนลงนาม โดยเงินส่วนนี้จะได้คืนจากธนาคาร หรือจะให้หักกับราคาบ้านเลยก็ได้

  2. ค่าประเมินบ้าน

     เงินส่วนนี้ธนาคารจะเรียกเก็บเป็นค่าสำรวจและประเมินราคาบ้านพร้อมที่ดิน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อ ประมาณ 1,000 - 3,000 บาท แล้วแต่ธนาคาร หากยื่นซื้อบ้านกับหลายธนาคาร นั่นแปลว่าเราต้องจ่ายเงินให้ทุกธนาคาร

3. ค่ามิเตอร์สาธารณูปโภค

     เป็นค่าติดตั้งและประกันมิเตอร์ประปาและมิเตอร์ไฟฟ้า จำนวนขึ้นอยู่กับประเภทของที่พักอาศัย โดยขึ้นอยู่กับมาตรวัด ขนาดมิเตอร์ และจำนวนกระแสน้ำ-ไฟที่ปล่อยได้ รวมแล้วอยู่ที่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

4. ค่าอากรแสตมป์

      เป็นเงินที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร ในอัตรา 0.50% ของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมินที่ดิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่ามาคำนวณ
 

5. ค่าจดทะเบียนจำนอง

     หากใครที่กู้ซื้อบ้านกับธนาคารจะจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับกรมที่ดิน คิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่ถ้าซื้อบ้านเงินสด จะไม่ถูกเรียกเก็บเงินส่วนนี้
แต่ในปี 2566 นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการต่อมาตรการลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านและคอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

6. ค่าโอนกรรมสิทธิ์

    เป็นค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ โดยจ่ายให้กับกรมที่ดินเช่นเดียวกับค่าจดทะเบียนจำนอง คิดเป็น 2% ของของราคาซื้อ-ขายหรือราคาประเมินที่ดิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่ามาคำนวณ ซึ่งบางแห่งอาจจะให้ผู้ซื้อกับผู้ขายตกลงกันว่าใครจะรับผิดชอบ
      แต่ในปี 2566 นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2% เหลือ 1% สำหรับบ้านและคอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

7. ค่าส่วนกลางล่วงหน้า

       หากบ้านที่ซื้อเป็นบ้านที่ไม่อยู่ในโครงการ ก็จะไม่มีค่าส่วนกลางนี้ แต่ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรรจะมีค่าส่วนกลาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทางโครงการนำไปใช้ในการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในที่พักอาศัย เช่น สวนสาธารณะ ฟิตเนส Co-Working Space ระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

       ซึ่งทางโครงการจะให้จ่ายล่วงหน้า 1 ปี โดยคิดตามขนาดพื้นที่พักอาศัยเป็นตารางวาหรือตารางเมตรตามแต่กรณี หลังจากนั้นก็จะเรียกเก็บเป็นรายปี

8. เงินสำรอง (กรณีกู้ได้ไม่เต็ม 100%)

       หากใครที่คิดว่าตัวเองอาจจะกู้ได้ไม่เต็ม 100% หรือบางโครงการอาจจะต้องมีการวางเงินดาวน์ แนะนำให้เตรียมเงินสำรองไว้ประมาณ 10% ของราคาบ้าน แต่หากไม่ได้ใช้เงินส่วนนี้ก็สามารถนำไปตกแต่งหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านแทนได้

9. ค่าตรวจรับมอบบ้าน

        หากไม่มีความรู้ในเรื่องการตรวจรับมอบบ้าน แนะนำให้จ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบจะดีกว่า เพราะเราจะอยู่บ้านนี้ไปอีกนาน หลาย ๆ คนก็คงไม่อยากให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับตัวบ้านตามมา ซึ่งการตรวจรับมอบบ้านนี้จะตรวจทุกอย่างตั้งแต่โครงสร้าง รอยร้าว สี ผนัง พื้นบ้าน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ฯลฯ

       คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม “ซื้อบ้าน” ได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?