JAPAN - Land of Rising Stock Market
หุ้นญี่ปุ่นเป็นการลงทุนขวัญใจนักลงทุนไทยมาโดยตลอด และปี 2023 กำลังจะเป็นปีพิเศษที่ดัชนี TOPIX ปรับตัวขึ้น จนมีโอกาสทดสอบระดับสูงสุดตลอดกาล 2,884จุด ที่เคยทำไว้ในปี 1989 หรือกว่า 3 ทศวรรษก่อน จึงมีคำถามมาอย่างต่อเนื่องว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้หุ้นญี่ปุ่นฟื้น พื้นฐานของตลาดแตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน และยังทันหรือไม่ที่จะเข้าลงทุนตอนนี้
ผมจึงชวนนักลงทุนมารู้ให้ทันจุดสูงสุดใหม่ของหุ้นญี่ปุ่นรอบนี้พร้อมกัน เริ่มด้วยการเปรียบเทียบหุ้นญี่ปุ่นในอดีตกับปัจจุบัน แม้ตลาดกำลังทำ New High จุดเดียวกัน แต่ความตื่นเต้นและความยิ่งใหญ่ในสมัยก่อนสูงกว่าปัจจุบันมาก
ย้อนกลับไปช่วงจุดสูงสุดในอดีต ครึ่งหนึ่งของขนาดตลาดการเงินทั้งโลกนั้นมาจากญี่ปุ่น เหตุผลที่ทุกคนเข้าลงทุน นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตสูงแล้ว ก็มีแรงส่งเพิ่มเติมจาก Plaza Accord ปี 1985 ที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนทั่วโลกจึงแห่นำเงินลงทุนมาพัก
ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นมีขนาดโดยรวมใหญ่กว่าสหรัฐถึง 4 เท่าทั้งที่มีขนาดเพียง 4%เมื่อเทียบกับพื้นที่ของสหรัฐ
ส่วนหุ้นญี่ปุ่นก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ซื้อขายในระดับ Long-term P/E (LT P/E) ราว 100เท่า ทุกอย่างฟุ้งเฟ้อ ก่อนที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ย บริษัทเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และฟองสบู่การเงินแตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990
แน่นอนว่าการกลับมาทดสอบจุดสูงสุดของตลาดหุ้นญี่ปุ่นครั้งนี้แตกต่างจากเดิมทุกอย่าง
1. ไม่ใช่เงินเยนแข็งแต่เป็นเงินเยนอ่อนที่หนุนตลาด ย้อนกลับไปต.ค.ปี 2022 จะเห็นได้ชัดว่าเงินเยนผันผวนทำสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 33ปี ทะลุ 150เยน/ดอลลาร์ ทิศทางที่ปักหัวลงของเงินเยน เกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น สวนกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดทั่วโลก ชัดที่สุดคือความต่างของดอกเบี้ยนโยบายกับธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังทำสถิติห่างที่สุดถึง 525bps
2. ไม่ใช่นักลงทุนต่างชาติ แต่เป็นคนญี่ปุ่นเองที่กำลังซื้อหุ้น ตลาดกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อทางการญี่ปุ่นปรับโครงการลงทุนเพื่อลดภาษีสำหรับชาวญี่ปุ่นหรือ Nippon Individual Saving Account (NISA) ใหม่สำหรับปี 2024
ขนาดการลงทุนจะใหญ่ขึ้นถึง 125% เป็น 3.6 ล้านเยน/คน/ปี เพิ่มการลงทุนในโครงการได้ถึง 18ล้านเยน/คน โครงการดังกล่าวจะเพิ่มกำลังซื้อหุ้น เพื่อการออมสำหรับอนาคต และลดแรงขายระยะสั้นไปพร้อมกัน
3. นโยบายไม่ใช่ให้บริษัทกู้เงินไปเติบโต แต่เติบโตจากการนำเงินที่มีออกมาใช้หรือคืนให้กับสังคม ด้วยนโยบายทุนนิยมรูปแบบใหม่ของนายก Kishida (New Form of Capitalism) ที่ต้องการปรับเศรษฐกิจ 5ประเด็นประกอบด้วย ลดการกระจุกตัวของธุรกิจ เพิ่มการลงทุน สนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งเสริมความหลากหลาย และ ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์
ทั้งหมดเป็นรูปธรรมเมื่อตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทจดทะเบียน ต้องส่งแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ต้นทุนทางการเงิน ไปจนถึงมีคำอธิบายธุรกิจที่ชัดเจน และมีงบการเงินเป็นภาษาอังกฤษ บริษัทที่มูลค่าตลาดต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีต้องหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะไปลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือไม่ก็ต้องจ่ายปันผล
ผมมองว่าทั้งหมดนี้ กำลังเป็นโอกาสและแรงส่งสำคัญที่จะหนุนให้เกิดการลงทุนในอนาคต เมื่อพื้นฐานสนับสนุน ก็ต้องรู้ทันกันต่อไปว่า New High จะ Higher ได้อย่างไร สำหรับผม Valuation ต้องสูงขึ้นได้ และต้องมีธีมใหม่ให้ลงทุนด้วย
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากำไรของ TOPIX เติบโตเฉลี่ย 6.3%ต่อปี ปัจจุบันบนระดับการเติบโตของกำไรที่ราว 5-10%ต่อปี ขณะที่ LT P/E 19เท่า ตีความได้ว่าหุ้นญี่ปุ่นในปัจจุบันนั้นไม่ใช่กลุ่มเติบโตสูง แต่มีราคาถูกกว่าหุ้นทั่วโลก ที่ LT P/E 21เท่า ถือว่าไม่ได้แพงจนต้องกังวล
ด้านธีมลงทุน ช่วงที่ผ่านมาธีม Tech และ Growth เป็น 2 ธีมขนาดใหญ่ที่นำตลาด อนาคตถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทั้ง 2 กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อ นักลงทุนอาจเลือกหุ้นใน Nikkei 225 หรือกลุ่มเทคโนโลยีโดยตรงก็ได้
แต่ถ้าใครมองว่าตลาดจะเปลี่ยนธีม อาจเน้นไปที่กลุ่มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในประเทศ มักเป็นหุ้นขนาดเล็กและธุรกิจ Health Care
นอกจากนั้นก็มีกระแสลงทุนตาม Value Investor คนดังอย่าง Warren Buffett ที่เน้นบริษัทคุณภาพสูงที่ Valuation ถูกซึ่งจะประกอบด้วยหุ้นมูลค่าและหุ้นปันผลมี LT P/E ต่ำกว่าตลาดเพียง 14-18 เท่า
แม้จะใช้เวลาถึงกว่า 33 ปี และไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต แต่ในที่สุดหุ้นญี่ปุ่นก็มีโอกาสทำ New High อีกครั้ง และผมมองว่าครั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะ Higher ได้ ไม่ปีนี้ ก็ปีหน้าครับ