กูรู ชี้ นักท่องเที่ยวจีนดัน บาทไทย แข็งค่า 32 บาทต่อดอลล์ แม้การเมืองผันผวน
นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB เผย บาทไทยอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีน-ออสเตรเลียที่มาไทยมากขึ้น แม้การเมืองไทยผันผวน ด้านเจย์ คันนัน นักกลยุทธ์การเงิน จากสิงคโปร์ เผยหากจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีเสียง ส.ว. เพียงพอ บาทไทยมีโอกาสปรับฐานลง
Key Points
- นักเศรษฐศาสตร์จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ เผย บาทไทยอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีน-ออสเตรเลียที่มาไทยมากขึ้น
- ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่มากขึ้นอาจช่วยให้บาทไทยแข็งค่าขึ้น 10% แตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี
- เงินบาทไทยปีนี้เพอร์ฟอร์มแย่เป็นรองเพียงสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย
- นักกลยุทธ์การเงิน บล. โซซิเอเต้ เจเนเรล สิงคโปร์ เผย หากจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีเสียง ส.ว. เพียงพอ บาทไทยมีโอกาสปรับฐานลง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เงินบาทไทย” ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลเพียงพอที่อาจทำให้เงินบาทของไทยดีดตัวกลับมาได้ หนึ่งในเหตุผลที่ว่ามาคือ “ค่าเงินบาท” มีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ประกอบกับหากความผันผวนทางการเมืองคลี่คลายก็อาจช่วยเสริมทัพทำให้ค่าเงินบาทไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
โดยนายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “จำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลังสามารถส่งผลให้เกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ผ่านการกระตุ้นรายรับจากการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาท” พร้อมเสริมว่า เงินบาทอาจแข็งค่าถึง 32 ต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี ซึ่งแข็งกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 10%
ปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความผันผวนทางการเมืองที่พรรคก้าวไกล ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง ทว่ายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งหมดจึงลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศลง
โดยค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าแตะ 35.285 ต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. และลดลงประมาณ 3.5% นับตั้งแต่วันก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งนับว่าเป็นสกุลเงินใน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ที่เพอร์ฟอร์มได้แย่ที่สุดเป็นรองเพียงสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย
ความช่วยเหลือจากจีน-ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย เปิดเผย เมื่อเดือน พ.ค.ว่า ความช่วยเหลือจากต่างประเทศกำลังเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนนี้ที่นักท่องเที่ยวจากจีนและออสเตรเลียมีแนวโน้มเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศสูงขึ้น เนื่องจากสายการบินอยู่ในช่วงเจรจากับหน่วยงานสนามบินท้องถิ่นเพื่อเพิ่มเที่ยวบิน
ทั้งนี้ ชวน ฮาน เติ้ง (Chua Han Teng) นักเศรษฐศาสตร์จาก ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (DBS Group Holdings Ltd.) ในสิงคโปร์ เขียนในบันทึกลูกค้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ณ เดือนเมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาท่องเที่ยวในไทยอยู่ที่เพียง 40% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาดในแต่ละเดือน ซึ่งหมายความว่ายังมีช่องว่างสำหรับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอีกมากผ่านการเพิ่มเที่ยวบิน
สัญญาณเชิงลบ
ในทางกลับกัน วีเจย์ คันนัน (Vijay Kannan) นักกลยุทธ์ เอเชียจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โซซิเอเต้ เจเนเรล (Societe Generale) สาขาสิงคโปร์ กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินหยวน อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาท เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองสกุลเงิน โดยความเสี่ยงของอุปสงค์ภายนอกที่ถดถอยและการฟื้นตัวอย่างยากลำบากในจีนอาจส่งผลเสียต่อการส่งออกของไทยเช่นกัน
ประกอบกับ นโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐและไทย อาจฉุดค่าเงินบาทให้ต่ำลงได้เช่นกัน กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ “เกือบจะมั่นใจ” ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 2% แล้ว
ปัจจัยการเมืองไทย
ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงลบเหล่านั้นอาจไม่เป็นผล หากเกิดความเปลี่ยนแปลกในเชิงบวกกับพรรคก้าวไกล โดยรัฐสภาจะประชุมกันในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งจะเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยตัวแทนจากแนวร่วม 8 พรรคร่วมรัฐบาลกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ได้รับการสนับสนุนใกล้จะ เพียงพอจากวุฒิสมาชิก (สว.) ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
“หากมีการลงมติทางการเมืองและเป็นไปอย่างราบรื่น สกุลเงินบาทอาจปรับฐานลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์” คันนัน ทิ้งท้าย
อ้างอิง