วิกฤติเศรษฐศาสตร์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนระดับโลก ไม่มีใครที่จะมีมุมมองเศรษฐกิจในแง่ร้ายอย่างต่อเนื่องได้เท่ากับ Nouriel Roubini ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้ที่วิเคราะห์เจาะลึกวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในไทยและลามทั่วเอเชียเมื่อกว่า 26 ปีก่อน

 ทั้งยังเป็นผู้ทำนายวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดจากการล้มของ เลห์แมน บราเธอร์ วานิชธนกิจ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อกว่า 15 ปีก่อนได้ถูกต้อง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Dr.Doom

ในหนังสือ Crisis Economics หรือวิกฤติเศรษฐศาสตร์ ที่ Roubini แต่งร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์อีกท่านเมื่อ 10 กว่าปีก่อน Roubini กล่าวว่าวิกฤติไม่ได้เป็นเหตุการณ์ Black swan หรือเหตุการณ์ที่เกิดได้ยากจนทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่เป็นเหตุการณ์ White swan หรือหงส์ขาวที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

หากให้สรุปแนวคิดหลักของการเกิดวิกฤติแล้ว อาจกล่าวได้ว่ามีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) การก่อหนี้ และ/หรือ ฟองสบู่ของสินทรัพย์ (2) การปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ย และ (3) การที่ทางการเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นเมล็ดพันธุ์ของวิกฤติรอบใหม่

ในมุมมองของผู้เขียน สำหรับสาเหตุที่ 1 และ 2 สถานการณ์ในปัจจุบันเข้าถึงเงื่อนไขแล้ว โดยหนี้ในปัจจุบันทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 349% GDP ขณะที่ดอกเบี้ยในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึงกว่า 5% นับจากปีก่อน ซึ่งเป็นการขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบกว่า 40 ปี

การขึ้นในระดับดังกล่าวกระทบต่อภาคการผลิตแล้ว ผ่านการใช้จ่ายที่เริ่มลงและทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเริ่มหดตัว และกำลังลามเข้าสู่ภาคบริการผ่านการใช้จ่ายที่ลดลง

วิกฤติเศรษฐศาสตร์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

Nouriel Roubini

 

ก่อนหน้านี้ การจับจ่ายในสหรัฐขยายตัวดี ผลจากเงินออมส่วนเกินที่รัฐบาลทรัมป์และไบเดนโอนให้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานหลังปิดเมืองจากวิกฤติโควิด แต่ในปัจจุบันเงินดังกล่าวกำลังจะหมดลงแล้ว โดยเหลือประมาณ 2.7 แสนล้านดอลลาร์จาก 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2564

เงินออมที่ลดลงทำให้การใช้จ่ายเริ่มชะลอลง โดยจะเป็นสินค้าจำเป็นและบริการเป็นหลัก ขณะที่สินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ลดลงมาก ทำให้เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง

ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ที่ชะลอลงเหลือ 4.0% จาก 9.1% เมื่อกลางปีก่อน รวมถึงเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐาน (Core PCE) ที่ 4.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี

ในมุมมองผู้เขียน เชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐในระยะต่อไปจะลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินเฟ้อฝั่งต้นทุน เช่น อาหารและพลังงาน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานโดยเฉพาะด้านบริการ

เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านจะชะลอตัวลงจากราคาบ้านและค่าเช่าที่หดตัว เช่นเดียวกับเงินเฟ้อจากค่าจ้างที่ลดลงตามการใช้จ่ายที่ชะลอลง ผลจากเงินออมส่วนเกินที่กำลังจะหมดลง

ภาพเหล่านี้จะทำให้รายได้ของบริษัทต่างๆ ลดลง ซึ่งเมื่อสอดคล้องไปกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น จะยิ่งทำให้ผลประกอบการของบริษัทแย่ลง โดยบริษัทที่มีหนี้ที่สูง ลงทุนเกินตัวหรือขาดธรรมาภิบาล จะมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากกว่าบริษัทอื่น

ข้ามไปพิจารณาเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ จะเห็นได้ว่าเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown) โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเบื้องต้น (Flash Composite PMI) ของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงในเดือน มิ.ย. ชี้ว่าการชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น รวมถึงจีน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมในภาคบริการที่แข็งแกร่งก่อนหน้านี้เติบโตช้าลงกว่าเดือนก่อนหน้า ในขณะที่กิจกรรมการผลิตยังคงอ่อนแอ โดย PMI ภาคบริการชะลอตัวรุนแรงเป็นพิเศษในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการเป็นหลัก บ่งชี้ว่าต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นเริ่มกระทบเศรษฐกิจ

วิกฤติเศรษฐศาสตร์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของทางการ ยังอยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ขณะที่เมื่อพิจารณาไส้ใน เช่น ดัชนีย่อยการจ้างงานและคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกก็หดตัวติดต่อกันหลายเดือน ตามอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 20.8% 

ขณะที่ดัชนีภาคบริการแม้ยังอยู่ในโซนขยายตัว แต่ก็ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว บ่งชี้ว่าภาคบริการในจีนเริ่มอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยอดขายบ้านของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 100 รายของจีนยังคงหดตัวที่ 28.1% ในเดือน มิ.ย.

ภาพทั้งหมด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มชะลอลงโดยพร้อมเพรียงจาก 

(1) การชะลอตัวจากภาคการผลิตกำลังเข้าสู่ภาคบริการ (2) นโยบายการเงินที่ตึงตัว นำไปสู่สภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และเริ่มกดดันภาคเศรษฐกิจมากขึ้น และ (3) ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากภาคการผลิต ที่จะเริ่มชะลอตัวลงตามราคาโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อจากจีนที่หดตัว

เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอแล้ว ยากที่เศรษฐกิจไทยจะหลีกเลี่ยงได้ เพราะจะกระทบผ่านการส่งออกไทยที่มีสัดส่วนถึงกว่า 70% ของ GDP โดยภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรก ยังคงติดลบอยู่ถึง 5.5% กลุ่มสินค้าที่ติดลบมากที่สุด ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยางและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ

การส่งออกที่ลดลงทำให้คำสั่งซื้อลดลงจาก 19 อุตสาหกรรม เพิ่มเป็น 25 อุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. หดตัวต่อเนื่อง 3.14% เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 60.2% ทำให้บางบริษัทจำเป็นต้องลดโอทีลง ขณะที่บางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อะลูมิเนียม รถยนต์และอัญมณี เริ่มลดกำลังการผลิตแล้ว

วิกฤติเศรษฐศาสตร์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ด้านภาคการเกษตรเผชิญภาวะเอลนีโญฉุด ทำให้ผลผลิตน้อย โดยอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ เช่น การส่งออกมันสำปะหลัง คาดว่าจะหายไปกว่า 30% ขณะที่ยางพาราคาดว่าจะหดตัวกว่า 10% จากความต้องการผลิตถุงมือยางและยางรถยนต์ที่ลดลง

ผู้เขียนมองว่าปัจจัยลบต่างๆ ที่รุมเร้าทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก ขณะที่ภาวะเอลนีโญจะทำให้รายได้เกษตรกรชะลอลง โดยรายได้เกษตรกรจะขยายตัวชะลอลงมาก ซึ่งจะกระทบการใช้จ่ายของประชาชนในชนบท

และเมื่อประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ และนโยบายการเงินที่เข้มงวด ก็จะยิ่งกดดันเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจโลกและไทยจะชะลอแรงขึ้น แต่จะเข้าสู่วิกฤติหรือไม่นั้น แม้ Dr.Doom ก็อาจไม่สามารถให้คำตอบได้

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่