ก.ล.ต. ผนึก แบงก์ชาติ เคลื่อน Thailand Taxonomy เศรษฐกิจเพื่อโลกยั่งยืน
ก.ล.ต. ร่วมมือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน เพื่อนำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 มุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรม ในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) จัดงานสัมมนา “Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน”
เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญและการนำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้
การพัฒนา Thailand Taxonomy เป็นผลจากการร่วมดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ตามแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand)
โดยมี ธปท. และ ก.ล.ต. เป็นประธานร่วม และประกอบด้วยหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสถาบันการเงิน* โดยงานสัมมนาในครั้งนี้มีนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวเปิดงาน และนางสาวอรศรัณย์ มนุอมร วิทยากรจาก Climate Bonds Initiative (CBI) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “รู้จัก Taxonomy กติกาใหม่ในโลกแห่งความยั่งยืน”
สำหรับ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะมุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทย
มีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินหรือกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
โดย ธปท. และ ก.ล.ต. ได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ มาประกอบการพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว
นอกจากนี้ภายในงานสัมมนายังมีการเสวนาในหัวข้อ “โอกาสใหม่ กติกาใหม่กับ Thailand Taxonomy” ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นางสาวสุมน สุเมธเชิงปรัชญา ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนนโยบายคาร์บอนต่ำและวิชาการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรื่องกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) นางสาวแจ่มจันทร์ ศิริกาญจนาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และนายนที สิทธิประศาสน์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. โดยมีนายมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ ผู้เสวนาได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับบทบาทของ Thailand Taxonomy แนวทางการนำไปใช้ รวมถึงข้อเสนอแนะด้านมาตรการสนับสนุนและการปรับปรุงในระยะถัดไป โดยทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการอ้างอิงThailand Taxonomy เพื่อการกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์การสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินทุน การบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ตลอดจนการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
นอกจากนี้ Thailand Taxonomy ยังช่วยส่งเสริมบทบาทของภาคการเงินรวมถึงตลาดทุนในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ดังกล่าวอีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับฟังการสัมมนาย้อนหลังได้ทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” และสามารถดาวน์โหลดเอกสาร Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท. https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand-Taxonomy.html เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/LawandRegulations/ResourceCenter-ThailandTaxonomy.aspx และช่องทางอื่นๆ ที่จะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมต่อไป
____________________________
หมายเหตุ: *คณะทำงานฯ ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 13 แห่ง ได้แก่
1) ธปท. 2) ก.ล.ต. 3) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) 4) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 5) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 6) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 7) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) 8) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 9) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 10) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. 11) สมาคมธนาคารไทย 12) สมาคมธนาคารนานาชาติ และ 13) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ