เปิด 10 วิธีจัดการปัญหา ผ่อนบ้านไม่ไหว
10 วิธีจัดการปัญหา ผ่อนบ้านไม่ไหว สำหรับคนที่ประสบปัญหาเรื่อง หนี้บ้าน ไม่ว่าปัญหาของคุณจะอยู่ในระยะความสามารถในการผ่อนน้อยลง ค้างชำระหนี้ หรือถูกฟ้องยึดบ้านอยู่ คุณยังมีทางให้ไปต่อ เพียงเปิดใจเข้าปรึกษากับธนาคารโดยตรง
“หนี้บ้าน” น่าจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดสำหรับหลายๆ คน และยังเป็นหนี้ใช้เวลาผ่อนชำระนานที่สุด ตั้งแต่2 – 3 ปี ที่เร็วที่สุด ไปจนถึง 30 ปี ซึ่งในระหว่างทางที่ผ่อนชำระหนี้ไป ผู้กู้อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเงินที่ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้เท่าเดิม อาจจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอน นำมาสู่ปัญหา “ผ่อนบ้านไม่ไหว” หรือค้างชำระค่าผ่อน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการผ่อนบ้านไม่ไหว ใช่ว่าจะไม่มีทางออก ธอส. ช่วยแนะนำทางออกสำหรับคนที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้บ้านอยู่ ไม่ว่าปัญหาของคุณจะอยู่ในระยะความสามารถในการผ่อนน้อยลง ค้างชำระหนี้ หรือถูกฟ้องยึดบ้านอยู่ คุณยังมีทางให้ไปต่อ เพียงเปิดใจเข้าปรึกษากับธนาคารโดยตรง
10 วิธีจัดการปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว
ในบทความนี้ จะช่วยเป็นแนวทางในการไปปรึกษาขอแนวทางในการรับมือปัญหา สำหรับวิธีรับมือกับปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว คือ
1. ขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ
ขอธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลดลงจากอัตราปกติ ซึ่งในกรณีนี้ ธนาคารมักจะอนุมัติให้กับผู้กู้ที่มีประวัติการผ่อนชำระที่ดีหรือไม่เคยขาดผ่อนชำระ แนะนำให้ผู้กู้เข้าปรึกษากับธนาคารโดยตรงและแจกแจงปัญหาของผู้กู้ เช่น รายได้ลดลงหรือมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ภายใต้เงื่อนไขของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ อาจเรียกว่าการขอ Retention หรือการขอลดอัตราดอกเบี้ย หากผ่อนชำระเกิน 3 ปี แล้วอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น หรือผู้กู้อาจจะพิจารณาเลือกวิธีขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่นก็สามารถทำได้
2. ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้
เข้าปรึกษาและขอขยายระยะเวลาชำระหนี้กับธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น เดิมตกลงชำระผ่อนบ้านที่ 20 ปีอาจเจรจาขอขยายระยะเวลาผ่อนบ้านไปอีก 5 – 10 ปี เพื่อให้อัตราผ่อนชำระต่อเดือนลดลง จากนั้นในภายหลังเมื่อสถานการณ์การเงินดีขึ้น อาจนำเงินก้อนมาโปะเพื่อปิดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยเงื่อนไขที่ธนาคารจะพิจารณาให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ได้แก่ ระยะเวลาที่ขยาย เมื่อรวมกับระยะเวลาที่ผ่อนไปแล้ว ต้องไม่เกิน 40 ปี ปีที่สิ้นสุดการผ่อนชำระ ผู้กู้อายุไม่เกิน 70 ปี
3. ขอชำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่างวดปกติ
วิธีนี้จะทำได้ในกรณีที่ยอดชำระต่อเดือนสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท และสามารถขอผ่อนชำระต่ำกว่างวดปกติได้ครั้งเดียว โดยระยะเวลาที่ผ่อนชำระต่ำกว่าปกติจะต้องไม่เกิน 2 ปี
วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังคงมีรายได้ประจำ แต่รายได้ลดลงหรือมีรายได้เท่าเดิมแต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะยังคงต้องผ่อนชำระในทุกเดือน เพียงแต่ว่าภาระผ่อนในแต่ละเดือนลดลงเท่านั้น โดยธนาคารจะพิจารณาให้ทำวิธีนี้สำหรับผู้กู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีเท่านั้น
เมื่อผู้กู้ทราบแล้วว่า หารายได้ได้น้อยลงหรือมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้น แนะนำให้เข้าไปปรึกษากับธนาคารเพื่อขอชำระค่าผ่อนที่ต่ำกว่าปกติทันที โดยที่ยังไม่มีประวัติการค้างชำระหนี้
4. ขอผ่อนผันหนี้ที่ค้างชำระ
ในกรณีที่ผู้กู้ค้างผ่อนชำระแล้ว เนื่องจากมีเหตุขัดข้องที่ทำให้ชำระคืนไม่ได้ และการชำระ 2 – 3 งวด ในเดือนเดียว อาจเป็นภาระที่หนักเกินไป ผู้กู้ทำเรื่องขอผ่อนผันหนี้ค้างชำระได้นานสูงสุดถึง 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยรูปแบบการชำระคืนที่ธนาคารส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำ ได้แก่
ชำระเป็นเงินก้อนเล็กในทุกเดือน หมายถึง ผ่อนหนี้ที่ค้างชำระเพิ่มเติมจากภาระหนี้ที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน
ชำระเป็นเงินก้อนโดยแบ่งเป็นงวดๆ โดยอาจตกลงกับธนาคารว่าจะต้องชำระหนี้ส่วนที่ค้างชำระกี่งวดงวดละเท่าๆ กัน
ชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง ตกลงกับธนาคารว่า จะชำระคืนในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ยอดค้างชำระไม่ได้สูงมากและยังมีรายได้เพียงพอ
5. ขอพักชำระเงินต้น (ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย)
ขอพักชำระเงินต้นกับธนาคาร โดยจะชำระเฉพาะดอกเบี้ยของงวดนั้นๆ เท่านั้น โดยวิธีการนี้ ธนาคารสามารถพักชำระเงินต้นได้นานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และให้ทำได้แค่ครั้งเดียว ช่วยให้ภาระที่ต้องผ่อนของผู้กู้แต่เดือนลดลง และในภายหลังเมื่อสถานการณ์การเงินดีขึ้น สามารถนำเงินมาโปะเงินต้นได้แนะนำสำหรับคนที่มีรายได้ลดลงหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีรายได้ประจำอยู่
6. การพักชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย)
ขอพักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กล่าวคือ ไม่ต้องชำระอะไรทั้งสิ้น (ภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับธนาคาร) ซึ่งวิธีนี้ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้เป็นกรณีพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายธุรกิจสะดุด เศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารจึงออกมาตรการผ่อนผันให้กับผู้ที่ขาดแคลนรายได้ และในระหว่างพักชำระหนี้ ธนาคารก็จะไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มเติม
7. ขอโอนบ้านให้เป็นของธนาคารชั่วคราวและจะซื้อคืน
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดรายได้ประจำและคาดว่าจะไม่สามารถหารายได้มาผ่อนชำระคืนได้ภายใน 1 ปีแนะนำให้ขอประนอมหนี้กับธนาคารโดยการขอโอนบ้านให้เป็นของธนาคาร
วิธีการนี้ จะคล้ายกับการขายฝากแล้วเช่าบ้านของตัวเองอยู่ ซึ่งค่าเช่าสินทรัพย์จะอยู่ที่ราว 0.4% – 0.6% ของมูลค่าทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น บ้านราคา 2,000,000 บาท ค่าเช่าจะอยู่ที่ 8,000 บาท – 12,000 บาท(โดยปกติแล้วจะตำ่กว่าหนี้เดิมที่ต้องผ่อน) และมักทำสัญญาเช่าเป็นรายปี ในกรณีจำนวนหนี้สูงกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ ผู้กู้จำเป็นต้องชำระส่วนต่างภายในวันโอน
ทั้งนี้ ผู้กู้ที่จะใช้วิธีนี้แก้ปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหว จะต้องมีคุณสมบัติและความพร้อม ดังนี้ 1.มีเงินก้อนมากพอสำหรับชำระส่วนต่างระหว่างหนี้และราคาประเมินทรัพย์ 2.ยังมีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าให้กับธนาคาร
8. ขอให้ธนาคารชะลอฟ้องหรือถอนฟ้อง [กรณีกำลังถูกฟ้อง]
เมื่อผู้กู้ค้างชำระผ่อนสินเชื่อบ้านมาสักระยะหนึ่ง มาตรการต่อไปของธนาคารคือเข้าฟ้องกับศาลเพื่อทำเรื่องยึดทรัพย์ต่อไป
ในจังหวะนี้ สิ่งที่ผู้กู้สามารถทำได้ คือ เข้าไปคุยเพื่อขอให้ธนาคารชะลอการฟ้องได้ โดยเงื่อนไขทั่วไป คือผู้กู้จะต้องชำระเงินที่ค้างติดต่อกันให้ทันงวดภายใน 6 เดือน แล้วผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิมหรือขอชำระแต่ดอกเบี้ยก่อน โดยไม่ผิดนัดเป็นเวลาเกิน 12 เดือน
เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผันแล้ว หากลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยไม่ขาดส่ง สถาบันการเงินก็จะคำนวณเงินงวดใหม่ที่ลูกหนี้ต้องชำระต่อไป
ในกรณีที่ถูกฟ้องแล้ว เงื่อนไขในการขอประนอมหนี้ คือ ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องจะต้องมาติดต่อชำระหนี้ให้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยค้าง พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน
9. ขอยอมความกับสถาบันการเงิน [กรณีถูกฟ้อง]
ในกรณีที่ผู้กู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่ทำได้ คือ การขอยอมความกับธนาคาร โดยเงื่อนไขของการยอมความ ได้แก่ ผู้กู้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือขอกำหนดเงินงวดผ่อนชำระหนี้ใหม่ ซึ่งอาจแบ่งเบาภาระการผ่อนออกเป็นงวดๆ ภายในระยะเวลา 1 – 2 ปี แรกของการผ่อนชำระหนี้ที่เหลือ โดยผู้กู้จะต้องเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าทนายความทั้งหมด
10. ขอชะลอการยึดทรัพย์และขอชะลอการขายทอดตลาด [กรณีถูกยึดทรัพย์]
ในกรณีที่ผู้กู้ถูกศาลพิพากษาแล้วและกำลังจะถูกยึดทรัพย์ ลูกหนี้สามารถยื่นขอชะลอการยึดทรัพย์ออกไปได้ โดยทำสัญญาว่า จะชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองทรัพย์คืนภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน และจะชำระหนี้บางส่วนก่อนตามที่ตกลง ทั้งนี้ ถ้าราคาประเมินหลักประกันสูงกว่ายอดหนี้เกินร้อยละ 80 ลูกค้าหนี้สามารถกู้ใหม่ได้ เมื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงเสร็จสิ้นไม่น้อยกว่า 6 งวด
สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินคดี เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ ค่าเดินทางของทนายความและค่าใช้จ่ายต่างๆ ลูกหนี้ต้องเป็นฝ่ายชำระทั้งหมด
สรุปหากผ่อนบ้านไม่ไหว ควรทำอย่างไร?
ไม่ว่าผู้กู้จะประสบกับปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวในระยะไหนก็ตาม สิ่งที่ควรทำ คือ การเข้าไปขอคำปรึกษาหาวิธีแก้ไขปัญหากับธนาคารหรือเจ้าหนี้ เพราะธนาคารที่ขอสินเชื่อมา ในที่สุดแล้ว ต้องการช่วยเหลือให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้คืนได้ และไม่ต้องการยึดทรัพย์หรือดำเนินคดี ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า ธอส. หวังว่า
บทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาสามารถรับมือและฝ่าฟันปัญหาผ่อนบ้านไม่ไหวไปได้